KM ผู้เกษียณจาก ดร. ชุมพร ถาวร

โดย มยุรี ศรีประโชติ

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร

 

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กรได้รับเกียรติจาก ดร.ชุมพร ถาวร ได้ให้สัมภาษณ์ ใน KM ผู้เกษียณ ดร.ชุมพร ได้ทำงานที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) มาเป็นเวลา 33 ปี และได้เริ่มทำงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 ในตำแหน่งลูกจ้างประจำ หน่วยงานศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ (ศพว.) ดร.ชุมพร กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจมาทำงานที่ วว. เนื่องจากการที่ตนได้เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์มาโดยตรงตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก

ดร.ชุมพร เล่าว่า ตนเองได้ทำงานมีประสบการณ์การในการทำงานในหน่วยงานต่างๆ หลายแห่ง เริ่มตั้งแต่ สภาวิจัยโลหะและ
เซรามิก, โรงงานนำทาง (ธนาคารเชื้อพันธุ์พืชแห่งชาติ), ฝ่ายบริการอุตสาหกรรมการที่ปรึกษา, ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ และศูนย์ระบบขนส่งทางราง โดยมีความรู้ทางด้านโลหะ, เซรามิก, สิ่งแวดล้อม และ Botany และในปัจจุบัน ดร.ชุมพร รับผิดชอบทางด้านระบบไฟฟ้า (แสงสว่างและเครื่องมือสื่อสารไฟฟ้า)  รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดในอาคารศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ (ศพว.)

หลักการหรือคติประจำใจในการทำงานของ ดร.ชุมพร คือ ทำงานให้บรรลุผลตามคำสั่ง และงานที่ได้รับมอบหมายโดยเร็ว ความถูกต้องตามหลักวิชา นอกจากนี้ ดร.ชุมพร ยังกล่าวว่า ตนเองมีทัศนคติในทำงานให้มีความสุข นั่นก็คือ การสนุกกับงาน และทำงานที่เรามีความรู้หาข้อมูลได้ ทำตัวให้เป็นกลางในทางที่ถูกต้องเสมอ แต่หากได้รับมอบหมายงานที่ไม่ค่อยชอบหรือไม่ถนัด ก็จะปรึกษาคนอื่นๆ ที่มีความรู้ในด้านนั้นๆ พร้อมทั้งหาข้อมูลประกอบมากๆ และลองทำ เราจะชอบไปเอง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา ดร.ชุมพร มีความชอบงานที่โรงงานนำทาง (ธนาคารเชื้อพันธุ์พืชแห่งชาติ) เนื่องจากมีความท้าทายความรู้ความสามารถมากมายหลายด้าน

สำหรับความเห็นในเรื่องของในการถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานแก่ผู้ร่วมงานนั้น ดร.ชุมพร ได้ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นสูงสุดในการทำงาน แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่พื้นฐานต้องมี ไม่อย่างนั้นจะต่อยอดงานนั้นได้ไม่ดี ผู้รับการถ่ายทอดจำเป็นต้องมีทัศนคติที่ดีต่องาน หรือมีความรู้เรื่องนั้นๆ เป็นพื้นฐานมาบ้าง จึงจะรับการถ่ายทอดได้ดีและปฏิบัติงานได้ ส่วนในเรื่องของการฝากองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้กับ วว. นั้น ดร.ชุมพร ให้ความเห็นว่า องค์ความรู้จากผู้เกษียณนั้นมีอยู่มากมายหลากหลายสาขาในรูปแบบรายงานวิจัยของ วว.   ไม่อยากให้ทิ้ง อยากให้นักวิจัยรุ่นหลังๆ มาลองนำไปใช้ต่อยอด แล้วท่านจะมีทางออกเสมอเมื่อทำงาน

ส่วนสิ่งที่อยากฝากให้น้องๆ รุ่นหลัง คือ ให้ลงมือปฏิบัติงานจริงๆ เช่น ในห้องทดลอง ภาคสนาม สร้างเครื่องมือ ปรับปรุงที่ทำได้ หัดเขียนจากงานวิจัยที่ทำเพื่อลงตีพิมพ์ให้ได้ เขียนโครงการให้เป็นเพื่อเสนอของบประมาณให้ผ่านและนำมาใช้ในโครงการที่เราต้องการวิจัย

สุดท้าย สิ่งที่ ดร.ชุมพร อยากจะฝากไว้กับนักวิจัยรุ่นน้องก็คือ “เรื่องความอ่อนน้อม เมื่อเจอท่านผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ในระดับผู้อำนวยการขึ้นไป เราต้องให้ความเคารพและอ่อนน้อมเสมอ  ผมมีทุกอย่างได้ก็เพราะว่า วว.  ทำให้ผมได้ทำงาน และเราพนักงาน/ลูกจ้างทุกคน ควรช่วยกันรักษาชื่อเสียงและปกป้อง วว. ให้มาก ซึ่ง วว. ของเราเป็นรัฐวิสาหกิจ ติดอันดับที่ 1-5  ให้ชื่อเสียงของ วว. ได้เป็นที่รู้จักกันต่อไปครับ”

 

 

ใส่ความเห็น