นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตผลสดโครงการหลวง

วรรณวิภา กาญจนไวกูณฐ์  ผู้สรุป

กองจัดการความรู้ ศูนย์ความรู้

>>>>>>>>>>


ใครเลยจะคิดว่า “แค่กล่องเล็กๆ เพียงหนึ่งใบจะมีความสำคัญมากมาย” แต่จริงๆแล้ว สำหรับเกษตรกรนั้นมีประโยชน์มาก เพราะช่วยคุ้มครองไม่ให้ผลิตผลสดจากที่ต่างๆไม่ว่าจะเป็นผักหรือผลไม้เสียหายได้ เนื่องจากผลิตผลสดบอบช้ำและเสื่อมเสียได้ง่ายตามธรรมชาติ กอรปกับระยะทางไกลและระยะเวลายาวนานในการการขนส่ง ส่งผลให้ผลิตผลสดเกิดความบอบช้ำเสียหายเมื่อถึงมือลูกค้า บรรจุภัณฑ์จึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการป้องกันความเสียหายดังกล่าว

นี่คือของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตผลสดโครงการหลวง ของ วว. โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งผลลัพธ์จากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม และยังได้นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกทั้งได้รับการยอมรับในวงกว้าง โดยได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดบรรจุภัณฑ์ทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล นับเป็นการสืบสานงานพ่อในการช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่สูงผ่านมูลนิธิโครงการหลวง

สืบเนื่องจากผลิตผลสดต่างๆ บนพื้นที่สูง เช่น พีช สตรอเบอรี่ และ กีวี  เป็นพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่  เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยจึงต้องได้รับการดูแลอย่างดีเป็นพิเศษ เกษตรกรจะเก็บและบรรจุผลิตผลสดด้วยมืออย่างทะนุถนอม ด้วยเหตุนี้ผลิตผลสดจึงมีความสดใหม่น่ารับประทาน ณ.แปลงปลูกของเกษตรกร จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งเมื่อพบผลิตผลบอบช้ำเสียหายในระหว่างการขนส่ง ณ.โรงคัดบรรจุ และ เมื่อถึงมือลูกค้า เพราะขาดบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม วว. โดย ศบท. จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนา บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ โดยคำนึงถึง ความแข็งแรง เพื่อให้ความคุ้มครองกับผลิตผล และการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ Food grade เพื่อความปลอดภัยสำหรับการบรรจุอาหาร เป็นหลัก เสริมด้วย รูปแบบที่สะดวกต่อการบรรจุและใช้งาน ง่ายต่อการขนส่ง ใช้พื้นที่น้อยในการขนส่งและจัดเก็บ และที่สำคัญเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในการนี้ ดร.ศิริวรรณ ตั้งแสงประทีป นักวิจัยอาวุโส ผู้ร่วมเสวนาได้นำตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบกล่องที่ได้รับรางวัลมานำเสนอต่อผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาอย่างน่าสนใจ โดยตัวอย่างที่นำเสนอ มีความสวยงาม ทันสมัย และใช้ได้ง่ายตรงความต้องการของลูกค้า ทำให้เห็นถึงความตั้งใจ ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ และยังได้บอกอีกว่า หลังจากได้รับรางวัลแล้วก็จะต้องพัฒนาต่อไป และกำลังจะคิดค้น สร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ชิ้นใหม่ โดย มุ่งเน้นการใช้งานจริงและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เกี่ยวข้องในวงจรบรรจุภัณฑ์ และทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ว่า “ถ้าเราทำไม่ดี ไม่ถูกต้อง ไม่ตอบโจทย์ ก็จะไม่มีใครให้เราทำ แต่ถ้าเราทำได้ ถูกต้อง ตอบโจทย์ สามารถใช้งานได้จริง ก็จะเป็นความภาคภูมิใจที่ได้พัฒนาตนเองในงานพัฒนาบรรจุภัณฑ์”

ด้วยการพัฒนาตนเองผ่านงานวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตผลสดโครงการหลวง ซึ่งเป็นงานที่ต้องนำผลลัพธ์จากการพัฒนามาใช้งานจริง หากใช้ไม่ได้ก็จะต้องแก้ไขปรับปรุงไปเรื่อยๆ จนใช้งานได้จริง ทำให้ ศบท.  สะสมองค์ความรู้จนมีความเชี่ยวชาญงานด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ กล่าวได้ว่า ในปัจจุบัน ทีมงาน ศบท. สามารถตอบโจทย์ความต้องการบรรจุภัณฑ์ได้ทุกรูปแบบ หากโจทย์ความต้องการนั้น ครบถ้วน ถูกต้อง และชัดเจน

ในช่วงท้าย    ดร.ศิริวรรณ      ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้น้อมนำมาเป็นหลักในการทำงานมาโดยตลอด มีใจความว่า

“…เมื่อมีโอกาสและมีงานให้ทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง    คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด  ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน ซื่อสัตย์ สุจริต  ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น…”

……………………….

ที่มา : ข้อมูลจากการฟังเสวนา “วว. สืบสาน…งานพ่อ” โดย ดร.ศิริวรรณ ตั้งแสงประทีป นักวิจัยอาวุโส  ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วันที่ 23 ธันวาคม 2559 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

ใส่ความเห็น