วว. กับงานฝนหลวงสนองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เรียบเรียงโดย วัชรีวรรณ ทรัพย์รุ่งเรือง

กองจัดการความรู้

>>>>>>>>>>

ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เป็นต้นมา และทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนได้ร่วมจัดงานกิจกรรมต่างๆ  เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างต่อเนื่อง ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ วว.ได้จัดกิจกรรมตลอดทั้งเดือน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและดำเนินรอยตามพระราชปณิธานของพระองค์ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจหนักมาโดยตลอด  อันก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ปวงราษฎรอย่างถ้วนหน้า  กิจกรรมต่างๆที่ผ่านมาของ วว. เช่น กิจกรรมรวมพลังแห่งความภักดี แปรอักษรเลข ๙  การปลูกต้นไม้   ร่วมทำบุญตักบาตรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ทุกฝ่ายต่างมีส่วนร่วมดำเนินการด้วยความจงรักภักดี

วันที่ ๒๓ ธันวาคม ที่ผ่านมา วว. มีกิจกรรมตามรอยเพลงพ่อ “ความฝันอันสูงสุด” ซึ่งเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๓ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ทำให้เรานึกถึงเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ที่กล่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า

“…จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา

ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร  ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา
ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา  ไม่เสียหายชีวาถ้าสิ้นไป….”

ดังนั้น  การเสวนาเรื่อง  “วว. สืบสาน…งานพ่อ” จึงจัดขึ้นเพื่อเล่าเรื่องราวการดำเนินงานเพื่อสนองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  โดยเริ่มจากโครงการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ในการโปรยสารเพื่อการปฏิบัติการฝนหลวง

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต รองผู้ว่าการบริหาร วว. ได้เล่าถึงงานที่ได้ทำร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร (ฝล.) ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ว่า วว. ได้มีโอกาสทำโครงการพัฒนาสารทำฝนหลวง  เพื่อการพัฒนาระบบการบดสารยูเรียให้มีความละเอียด เกิดการแขวนลอยในอากาศได้นานและดูดซับความชื้นได้ดี  ระบบการโปรยสารทำฝนหลวง และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยของ วว. และนักวิทยาศาสตร์ของ ฝล. เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม ซึ่งในกระบวนการวิจัยจะประกอบด้วย ระบบบดสารทำฝนหลวงระบบปิดที่ไม่เกิดการฟุ้งกระจายเหมือนแบบเดิม การสร้างห้องควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ เพื่อลดการดูดความชื้นของสารยูเรียอันเป็นสาเหตุให้เกิดการจับตัวเป็นก้อนในระหว่างกระบวนการบดและการบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ ทำให้ได้สารยูเรียที่มีคุณภาพด้านการดูดความชื้นสูง  การพัฒนาระบบการโปรยสารบนเครื่องบินเพื่อควบคุมปริมาณการโปรยสารทำฝนหลวงไปยังกลุ่มเมฆเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ดร.ชุติมา เน้นว่า “คนของ วว. และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเติบโตไปด้วยกัน ช่วยกันสร้างงาน สร้างคนให้เก่งไปพร้อมๆ กัน” การพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แห้งแล้งให้มีน้ำในการทำเกษตรกรรม จึงเป็นการตอบสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโครงการฝนหลวง

นอกจากนี้ ผอ.เฉลิมชัย จิระพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการกลาง ในฐานะนักวิจัยที่ร่วมโครงการ ยังได้เล่าถึงประสบการณ์การขึ้นเครื่องบินทำฝนหลวงและการเข้าร่วมในการวิจัยกับโครงการ โดยมีแรงบันดาลใจจากตำราฝนหลวงพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ผอ.เฉลิมชัยฯ ได้เล่าถึงงานที่กำลังพัฒนาในโครงการ จะมีส่วนช่วยให้กระบวนการโปรยสารของการทำฝนหลวงมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกระบวนการทำฝนหลวงหลักจะมี ๓ ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ ๑ ก่อกวนให้เกิดเมฆ ขั้นตอนที่ ๒ เลี้ยงเมฆให้อ้วน และขั้นตอนที่ ๓ โจมตี

วว. ได้เข้าไปพัฒนาการบดเพื่อลดการเกิด Caking (การจับตัวเป็นก้อน) ของสารทำฝนหลวงระหว่างการบดและการจัดเก็บก่อนนำไปโปรยลงไปบนกลุ่มเมฆฝน ด้วยการทำการบดในห้องระบบปิดเพื่อป้องกันความชื้น และการบรรจุจัดเก็บสารยูเรียให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ในการเลือกวัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ ในขั้นตอนการโปรยสารทำฝนหลวงซึ่งโดยปกติใช้แรงงานคนในการโปรย ทาง วว. ก็ได้เข้าไปช่วยพัฒนาเครื่องโปรยกึ่งอัตโนมัติ โดย คุณทรงเกียรติ รอดแดง และทีมงานนักวิจัยฝ่ายวิศวกรรม

การร่วมมือกันของ วว. และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่เหมาะสมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งที่ต้องการน้ำในการทำเกษตรกรรม ถือเป็นงานที่สร้างความภาคภูมิใจต่อ วว. ที่ได้ช่วยเหลือและสนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  และ วว.จะได้สืบสานงานพ่อ…ต่อไป

 

ใส่ความเห็น