เรียบเรียงโดย กนกพร ปรีเปรม
กองจัดการความรู้ ศูนย์ความรู้
>>>>>>>>>>>>>
การถ่ายทอดความรู้และสนทนากลุ่ม ด้านการบริหารงาน “เวทีนี้ ต้องมีพี่เลี้ยง” เป็นการถ่ายทอดความรู้จาก นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม และ นางชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต รองผู้ว่าการบริหาร แก่ผู้บริหารรุ่นน้อง รุ่นใหม่ ผู้เพิ่งรับตำแหน่ง พร้อมทั้งร่วมกันสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารงานที่เป็นประโยชน์และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระดับผู้บริหารภายใน วว.
- ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต รองผู้ว่าการบริหาร : “ต้องทำงานให้มากที่สุดและเห็นผลที่สุด”
ประสบการณ์ของรองผู้ว่าการบริหารที่เป็นนักวิจัยที่เข้ามารับตำแหน่งในการบริหารตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เนื่องจากจะต้องสร้างความยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชา “จะต้องทำงานให้มากที่สุดและเห็นผลที่สุด” การเป็นนักวิจัย มีความคิดหรือการทำงานที่เป็นอิสระมากกว่าเป็นผู้บริหาร จึงทำให้เกิดหลักการในการทำงานที่ว่า “ถ้าเราทำงานมาก เราจะได้ประสบการณ์มากและถ้าเราทำงานได้เต็มความสามารถ เราจะได้ประสบการณ์อันทรงคุณค่า” “วว. จ้างให้เราเก่ง เราเป็นผู้ได้ ยิ่งทำยิ่งได้” วว. ได้ผลพลอยได้จากการทำงานของเรา
ก้าวแรกของการเป็นผู้บริหาร คิดว่าทุกอย่างทำได้ และเรียนรู้ได้ เป็นสิ่งท้าทายในการปิด Project ที่คั่งค้าง รีบทำงานวิจัยให้เสร็จ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ผลที่ได้ก็จะดี
การเป็นผู้บริหารจะต้องเหนื่อยกับการประเมินผู้ใต้บังคับบัญชา และจะต้องสื่อสื่อสารในการทำความเข้าใจในสิ่งที่ทำได้กับสิ่งที่ทำไม่ได้อย่างมีเหตุผล และจะต้องแยกแยะเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เป็นผู้บริหารต้อง อดทน ให้อภัย “มีเป้าหมายชัดเจน ผลลัพธ์ชัดเจน” และ “เราจะไม่ทะเลาะกับลูกน้อง”
- นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม : “การบริหารงานต้องสนใจทั้งคนและผลผลิต”
ประสบการณ์ของรองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรมในการเป็นผู้บริหาร โดยเริ่มจากการไม่ปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทาย ทดสอบความสามารถ ทดสอบไหวพริบปฏิภาณให้การบริหารงาน บริหารคนให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลที่ช่วยในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจน และการเป็นผู้บริหารนอกจากการบริหารงาน การสื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว ยังต้องทราบถึงสิ่งจูงใจในสิ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องการ ต้องทราบถึงพฤติกรรมจากการศึกษา
ควรเอาใช้การบริหารงานที่เน้นความความเหมาะสมมากกว่าความผิดถูก โดยอาจจะต้องใช้ทฤษฎีความสงบสยบความเคลื่อนไหวและอย่าหาคำตอบว่าทำไมเขาถึงไม่ชอบเรา คนไม่ชอบก็คือไม่ชอบ แต่เราสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เสมอ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน และเวลาเจรจากับผู้ใต้บังคับบัญชา “ควรรู้จักเขาให้มาก ฟังเขาให้มากและสื่อสารให้ตรงตามความต้องการของเขา” และ “สื่อสารให้เขาเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของเรา ทำให้เขาอุ่นใจในการทำงานร่วมกับเรา คอยสนับสนุนการทำงานให้กับเขา ให้เขากล้าคิด กล้าทำ เป็นที่พึ่งให้กับเขาได้ คอยให้คำปรึกษา อย่างมีเหตุผล ไม่ควรใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง”
ผู้บริหารต้องเป็นผู้สร้างคนไม่มองปัญหาอุปสรรค ความกังวลใจในสิ่งที่จะมาขัดขวางในการปฏิบัติงาน เป็นผู้บริหารควรช่วยบริหารจัดการงานมากกว่าจะลงมือทำเองทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมด “ควรเป็น Coaching สร้างลูกน้องที่เก่งขึ้น ทุกคนพัฒนา ทำงานได้ทุกคน อย่าคิดว่าเขาทำไม่ได้ ควรบอกกระบวนการทำงาน ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ และบอกวิธีการพัฒนางาน ยอมถ่ายอำนาจเชื่อใจ เชื่อมั่นว่าเขาทำได้ ทุกอย่างเรียนรู้กันได้” ดังคำที่ว่า “เราสอนให้เขาหาปลา ไม่ใช่หาปลามาให้เขา” สร้างคนให้ทำงานให้กับองค์กร ให้กับประเทศ และให้คิดเสมอว่าประสบการณ์เป็นส่วนหารเวลา เวลาที่หมดไป ทำอะไรให้เราได้ประสบการณ์หรือไม่ หรือเราจะปล่อยเวลาให้หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ ถ้าเราไม่ทำเวลาก็จะหมดไปและประสบการณ์ก็จะไม่ได้ด้วย
3. การสนทนากลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารงาน
การบริหารคนสำหรับผู้ใต้บังคับบัญชาที่อายุมาก
ผู้บริหารรุ่นใหม่มีอายุน้อยกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้เกิดความคาดหวังมาก จึงต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถ สร้างความเชื่อมั่น เชื่อในฝีมือ ในการเป็นผู้นำ และการเป็นผู้บริหารอายุน้อยจะต้องใช้คำว่าขอความร่วมมือมากกว่าการบังคับให้ทำงาน แจ้งถึงเหตุผล ที่มาของการปฏิบัติ ช่วยกันพัฒนางาน ปฏิบัติงานร่วมกัน ต้องใช้ความอดทนอย่างสูงในการบริหารงาน ใช้การสร้างบรรยากาศความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่สร้างความกดดัน ทำให้เห็นว่าทำงานหนักจนเกิดความเห็นใจซึ่งกันและกัน ควรเชื่อมั่นถึงความเก่งของคนที่ วว. คัดเลือกเข้ามาทำงาน ดูความถนัด ขีดความสามารถที่แตกต่างกันออกไป มอบหมายงานที่ตรงตามความสามารถ ความถนัดของแต่ละบุคคล ให้ช่วยกันทำงาน ถึงแม้จะทำงานไม่ได้ 100% ตามที่คาดหวัง แต่ควรทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
เป็นผู้บริหารควรสร้างการยอมรับให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา สร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน ให้ความสำคัญ ดึงศักยภาพ มองเห็นถึงคุณค่า ใช้ความอดทน ส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง สร้างความไว้ใจ กำกับดูแล ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ควรที่จะแม่นกฎระเบียบข้อบังคับ สื่อสารทำความเข้าใจ
การประเมินผลงาน
การประเมินผลการปฏิบัติงาน ควรอธิบายด้วยเหตุและผลของการประเมิน รับผิดชอบในการประเมินผล ควรใช้การประเมินอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะได้คนเก่งเพิ่มขึ้น บางครั้งมุมมองของผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชาแตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือการสื่อสารให้มาก ควรมีการ Meeting Review ตกลงกันก่อนประเมิน ลดข้อสงสัย การเปรียบเทียบผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารเหมือนคนคัดท้ายเรือ ผู้ใต้บังคับบัญชาเหมือนกับคนแจวเรือ ทุกคนย่อมมีความสำคัญ แต่แตกต่างตรงที่หน้าที่ความรับผิดชอบ ควรทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของงาน เป็นบุคคลที่สำคัญ นอกจากการสื่อสาร (Communication) ยังต้องมีปฏิกิริยาตอบสนอง (Feedback) ของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างมีเหตุผลและเท่าเทียมกัน มีเป้าหมายที่ชัดเจน คอยอำนวยความสะดวก
การเป็นผู้บริหาร เมื่อเสียหลักก็ต้องหลบอย่างฉลาด เมื่อพลั้งพลาดต้องรู้หลีกใส่ปีกหาง ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ ค่อยคลำทาง จึงจะย่างสู่จุดหมายเมื่อปลายมือ (อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.gotoknow.org/posts/376990 เมื่อ 20 ธันวาคม 2559)
************************************