การประหยัดพลังงานในโรงงานและการพัฒนางานวิจัยพลังงานทดแทนจากชีวมวล

สรุปข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ดร.ธเนศ อุทิศธรรม

อดีตผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีพลังงานและนักวิจัยอาวุโส

พลังงานชีวมวลเป็นทางเลือกที่สำคัญและมีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนให้กับโรงงานและภาคอุตสาหกรรม

ดร.ธเนศ อุทิศธรรม ได้เข้าร่วมโครงการสำรวจก๊าซชีวภาพในประเทศ เมื่อปี 2527 โดยการออกสำรวจทั่วประเทศและสำรวจพลังงานลมเพื่อสูบน้ำ ทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน ต่อมาในปี 2529 ได้ร่วมทีมโครงการประหยัดพลังงาน เพื่อสำรวจโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยเริ่มจากการติดต่อขอข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่กรมโรงงานในการกำหนดกลุ่มโรงงานเป้าหมายที่เข้าข่ายต้องทำการวิจัยประหยัดพลังงาน ต่อมาได้มีการติดต่อประสานกับอุตสาหกรรมแต่ละจังหวัด เพื่อขอเข้าไปสำรวจการใช้พลังงานหรือทำการ energy Audit โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ออกสำรวจจะอยู่ในจังหวัดระยอง จึงได้แบ่งทีมการทำงานเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนระบบความร้อน กับส่วนระบบไฟฟ้า ซึ่งโรงงานแรกที่เข้าไปสำรวจ คือ โรงงานกระดาษบางประอิน จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้น จึงทำให้เกิดแนวทางในการตรวจวัดพลังงานและขณะนั้นการทำรายงานผลการประหยัดพลังงานยังขาดข้อกำหนด รูปแบบ และแบบฟอร์มที่ชัดเจน ดังนั้น การตรวจวัดจึงต้องเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์

ขณะที่ วว. ยังไม่มีเครื่องมือวัดค่าพลังงาน จึงต้องไปขอยืมเครื่องมือวัดจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี (มจธ.) มาทดลองใช้ก่อน แล้วจึงหาวิธีประยุกต์ใช้ในการเก็บข้อมูลในกรณีที่ไม่มีเครื่องมือจริงๆ เช่น เอาเทอร์โมมิเตอร์มาทดลองเทสต์ในการหาค่าอุณหภูมิในระดับต่างๆ ในการเก็บข้อมูล แล้วทดสอบด้วยการใช้ความรู้สึกทางกายภาพ (sensor) ด้วยการสัมผัสส่วนตัว เพื่อประมาณอุณหภูมิด้วยตนเอง เช่น การสัมผัส 1 ครั้ง (นับในใจแล้วทนได้ 1-30 แสดงว่า อุณหภูมิ ประมาณ 70-75 องศา ถ้านับได้ 1-20 แสดงว่า อุณหภูมิ 80-85 องศา เป็นต้น) ประสบการณ์ที่ได้จากการทำโครงการครั้งนี้ คือ การประเมินด้วยความรู้สึก เครื่องวัดความชื้น โดยให้คนงานในโรงงานสอนวิธีการวัด เครื่องวัดความดันใช้ U-Tube คือใช้ Appropriate Technology เป็นหลักในการทำงาน

ส่วนเครื่องวัดระบบไฟฟ้าใช้ Clamp on จากการทำโครงการประหยัดพลังงาน 3-4 ปี ทำให้ทีมงานมีประสบการณ์การตรวจวัด ต่อมาหลังจากนั้นได้ขอโครงการประหยัดพลังงานจากรองอธิบดีกรมอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้ดำเนินการ 40 โรงงาน ต่างจังหวัด 20 โรงงาน และกรุงเทพ 20 โรงงาน ด้วยความราบรื่นในการประสานงานระหว่างผู้บริหารและรองอธิบดี จึงทำให้ประสบความสำเร็จในการหาโครงการเป็นครั้งแรก แต่ปัญหาที่ตามมาหลังจากเจรจาได้โครงการแล้ว คือ ไม่มีคนทำงาน จึงทำให้ต้องล้มเลิกโครงการและคืนโครงการนี้ไป แต่ในขณะนั้นหน่วยงานคู่แข่งยังไม่มีและศูนย์พลังงานของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพิ่งเริ่มต้น ส่วน มหาวิทยาลัยรังสิต เพิ่งจะ Set up การประหยัดพลังงาน จึงทำให้ วว. ได้ดำเนินการโครงการประหยัดพลังงานและยังเป็นหน่วยงานที่ริเริ่มของประเทศ แม้ว่าต้องปิดตัวในระยะหลัง แต่ก็ยังเป็นความภาคภูมิใจที่สามารถจัดทำโครงการได้ตั้งแต่อายุ 36-37 ปี เท่านั้น

 

ใส่ความเห็น