ทุกช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง คือการพัฒนาตนเอง

โดย ปฐมสุดา อินทุประภา

อีกเจ็ดเดือนนับจากนี้ พี่เล็ก มาลี หนึ่งน้ำใจ นักสารสนเทศประจำกองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร ภายใต้สำนักดิจิทัลและสารสนเทศ ของ วว. ก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว ตลอดระยะเวลาสามสิบเก้าปีของการทำงาน พี่เล็ก ผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มามากมาย ตั้งแต่การเปลี่ยนหน่วยงาน จนกระทั่งถึงการเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ในการทำงานที่เปลี่ยนไปตามวาระสมัย การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต ไม่ได้ทำให้พี่เล็ก ท้อแท้ หรือเบื่อหน่ายงานที่ทำอยู่แม้แต่น้อย เพราะพี่เล็กชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง คือ โอกาสในการพัฒนาตนเอง

เรามาทำความรู้จักกับพี่เล็ก มาลี หนึ่งน้ำใจ ผู้หญิงคิดบวก คนนี้กันดีกว่า

ประสบการณ์ในการทำงาน
“พี่เริ่มเข้าทำงานที่ วว. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ในตำแหน่งลูกจ้างของ ศูนย์บริการเอกสารการวิจัยแห่งประเทศไทย หรือ ศบอ. ในสมัยนั้น จากนั้นตุลาคม ปี พ.ศ. 2525 ก็ได้บรรจุเข้าเป็นพนักงานพิมพ์ดีด ของ ศบอ. ค่ะ คือ พี่จบ ปวช. ด้านเลขานุการ ที่เกริกวิทยา ซึ่งตอนนี้เป็นมหาวิทยาลัยไปแล้ว พี่ก็จะถนัดงานด้านการพิมพ์ การจดชวเลข ก็จะทำงานทางด้านนี้ ต่อมา วว. มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งพนักงาน พี่ก็เปลี่ยนมาเป็นพนักงานธุรการ และพอปี พ.ศ. 2540 ก็เปลี่ยนตำแหน่งอีก เป็นพนักงานปฏิบัติการประจำ ศบอ. ซึ่งตอนนั้นก็ต้องเริ่มบทบาทงานใหม่ คือ รับผิดชอบงานด้านจัดซื้อวารสารทั้งภาษาไทยและอังกฤษของศบอ. ซึ่งพี่ก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากรุ่นพี่ที่ ศบอ. คือ พี่บุญช่วย ถาวร ทั้งด้านการลงชื่อวารสารในฐานข้อมูล จนถึงการเอาหนังสือขึ้นชั้น รวมถึงกระบวนสั่งซื้อวารสารและต่ออายุวารสาร ซึ่งพี่บุญช่วยจะสอนงานพี่ในลักษณะ learning by doing คือ ให้ทำไปด้วย สอนไปด้วย ควบคู่กันค่ะ แล้วพอต่อมาปี พ.ศ. 2551 ศบอ. มีภาระหน้าที่ใหม่ โดยเปลี่ยนหน่วยงานเป็นศูนย์ความรู้ พี่ก็เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นนักสารสนเทศ บทบาทที่ต้องทำงานจึงต้องมีการใช้คอมพิวเตอร์ ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ พี่ก็ต้องปรับตัว เรียนรู้เพิ่มเติมเอง ตอนนั้นก็ต้องถามจากเพื่อนข้างนอกบ้าง จากน้องๆ ที่ทำงานบ้าง เรียนรู้ด้วยตนเองจากการลองผิดลองถูกบ้าง จนสามารถเพิ่มทักษะการสืบค้นได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ แล้วต่อมาปี พ.ศ. 2560 วว. มีการปรับโครงสร้างใหม่ พี่ต้องมาดำรงตำแน่งนักสารสนเทศประจำกองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร ภายใต้สำนักดิจิทัลและสารสนเทศ ยิ่งต้องใช้ทักษะในการใช้โปแกรมคอมพิวเตอร์ในสืบค้น ในการทำ check in วารสารเข้า ต่างๆ มากขึ้น ก็โชคดีที่พี่ค่อยเรียนรู้ด้วยตนเองมาเรื่อยๆ ทำให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เข้ามาได้” 


แนวทางในการปรับตัวในการทำงาน

“พี่คิดว่าสิ่งแรกเลยนะ เราต้องทำความเข้าใจกับภาระงานหรืองานที่ได้รับมอบหมายให้เข้าใจก่อน จากนั้นก็ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานที่ได้รับ จากนั้นลงมือทำ แล้วถ้าประสบปัญหาอะไร สิ่งแรกที่เราต้องทบทวนก็คือ   ดูก่อนว่าปัญหาเกิดจากตัวเราเองหรือไม่ ถ้าใช่เราต้องปรับปรุงตัวเองก่อน เช่น หากเราขาดทักษะในงานที่ต้องรับผิดชอบ เช่น ใช้โปรแกรมการค้นคว้า หรือระบบต่างๆ เราก็ต้องเรียนรู้ หากไม่มีการฝึกอบรมก็ต้องหมั่นสอบถาม  จากเพื่อนร่วมงานที่รู้ หรือปรึกษาผู้บังคับบัญชาเพื่อหารือให้จัด workshop นอกจากนี้ในงานของพี่ก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการค้นหาวารสาร และสื่อสารกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศเพื่อสั่งซื้อและต่ออายุวารสาร เราก็ต้อง  พัฒนาตนเองด้านนี้ ซึ่งพี่ก็ต้องเปิดดิกชันนารี อ่านจากอินเทอร์เน็ต เพื่อเพิ่มพูนคลังคำศัพท์ภาษาอังกฤษให้กับตนเอง เพื่อที่จะได้นำ keywords ต่างๆ มา ใช้ค้นหาวารสารได้”
แนวทางในการถ่ายทอดความรู้
“ที่ตั้งใจไว้ก็คือ จะถ่ายทอดความรู้ด้านกระบวนการ Check in วารสาร ตั้งแต่ขั้นตอนแรกซึ่งก็คือการรับวารสารเข้ามาในระบบ จนกระทั่งถึงขั้นตอนสุดท้ายคือนำไปไว้บนชั้น ซึ่งกระบวนการตรงนี้ เป็นกระบวนการเฉพาะของ  ห้องสมุด พี่ก็ตั้งใจจะถ่ายทอดให้น้องๆ ที่กองฯ ในลักษณะที่พี่บุญช่วย เคยถ่ายทอดให้กับพี่ คือ learning by doing ตั้งใจว่าจะเริ่มถ่ายทอดตั้งแต่ช่วง 6 เดือนก่อนพี่จะเกษียณ ซึ่งหลังจากสอนแล้ว ในระหว่างปฏิบัติงานจริงพี่   ก็จะคอย coaching ให้น้องๆ ด้วยค่ะ”


สิ่งที่อยากจะฝากไว้
“ก่อนอื่นพี่อยากจะบอกว่า พี่ประทับใจพี่ๆ น้องๆ หลายๆ คนที่เป็นเพื่อนร่วมงานของพี่ พี่อยากให้ทุกคนมีความสุข สนุกกับการทำงาน ทำงานให้เต็มความสามารถ รับผิดชอบงานให้ดี คิดและมองอะไรในแง่บวก คิดดี ทำดี พูดดี และที่สำคัญที่สุดอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงคือโอกาสในการพัฒนาตนเองค่ะ”

และทั้งหมดนี่ก็คือ ความคิดความอ่าน ประสบการณ์ และความรู้สึก ที่ผู้หญิงคิดบวกคนนี้ อยากฝากไว้ให้พวกเราชาว วว.

ใส่ความเห็น