เรียบเรียงโดย ศิริสุข ศรีสุข
กองบริการสารสนเทศ
>>>>>>>>>>
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังการบรรยายโครงการ I Talk for TISTR ครั้งที่ 8 เรื่อง Success through Innovation โดยมีวิทยากร คือ รศ.ดร.ศิริกัลยา สุวจิตตานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันวิศวกรรมพลังงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านให้แง่คิด รวมทั้งมุมมองที่ท่านสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง
ในมุมมองของท่านวิทยากร การบริหารแบบเหนือชั้น มี 2 ส่วน กล่าวคือ 1) การบริหารชีวิตส่วนตัว และ 2) การบริหารชีวิตการทำงาน ในส่วนของการบริหารชีวิตส่วนตัว คือ ต้องไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหาร รวมทั้งต้องหาหนังสืออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหาร ซึ่งท่านได้แนะนำหนังสือ ดังนี้ พ่อรวยสอนลูกลงทุน/ใครขโมยเนยแข็งของฉันไป/ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน และสร้างทีมเสือ นอกจากนี้ ท่านได้แนะนำเพิ่มเติมว่า ถ้าหากอยากรู้อะไร ต้องเข้าไปให้ถึงแก่นแท้ หากแพ้ ต้องอย่ายอมแพ้ และต้องรู้ให้ครบด้าน ท่านเล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ท่านได้ทำธุรกิจที่ดิน โดยซื้อที่ดิน แล้วปล่อยไว้ สักพักขายจะได้กำไร แต่ก็ไม่ได้กำไรเสมอไป บางครั้งก็มีขาดทุนบ้าง มีปัญหาต่างๆ นานา แต่ก็สามารถผ่านมาได้ ด้วยความมานะ มุ่งมั่น และอดทน ท่านให้ข้อคิดว่า “ถ้าอยากรวยคนรวย ให้เงินทำงานให้เรา” ท่านเล่าถึงการทำธุรกิจรีสอร์ท ใช้การบริหารงานแบบเหนือชั้น นั่นคือ จะรับจัดกรุ๊ปสัมมนาที่มีการจองล่วงหน้าแบบเหมา โดยไม่เปิดให้บริการทั่วไป หากไม่มีงานเข้าแบบกลุ่มจะปิด เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน รวมทั้งลดพลังงานด้วย แม้กระทั่งแม่ครัว ท่านใช้วิธีให้ผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นทำอาหารมาเสนอ หากใครทำอร่อย ก็จะใช้บริการ ท่านแนะนำว่า “ต้องบริหารแบบไม่ใช้เงิน จะจ่ายเงินก็ต่อเมื่อมีรายได้เข้ามา ต้องบริหารแบบเอาหัวเดินต่างเท้า” คือ คิดด้วยสมอง สำหรับชีวิตครอบครัว ท่านโชคดีที่ได้สามีที่ดี ช่วยเสริมให้ชีวิตคู่ มีความสุข ท่านบอกว่า เคล็ดลับ คือ จะไม่เอาปัญหาเรื่องงานเข้ามาในบ้าน เพราะต่างคนต่างเหนื่อย หากต้องมานั่งฟังปัญหาของกันและกัน คงไม่มีความสุข
สำหรับในส่วนของการบริหารชีวิตการทำงาน ท่านมีมุมมองแบบเหนือชั้น นั่นคือ ท่านจะจ้างลูกน้องที่มีความสามารถแบบ All in one และท่านได้มองไปถึงหน้าตาและฐานะการเงิน เพราะท่านมองว่า หากทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน หากฐานะการเงินส่วนตัวไม่ดี อาจจะโกงเงินที่ทำงานไปได้ และหากลูกน้องคนไหนจะไปอบรม ท่านอนุมัติให้ไป แต่มีเงื่อนไขว่า หากไปอบรมคอร์สละ 100,000 บาท กลับมาต้องทำงานหาเงินให้ได้ 500,000 บาท หรือกรณีวันลา โดยปกติจะมีวันลาให้พนักงาน แต่หากพนักงานคนไหนไม่ลางานเลย จะได้เงินในส่วนของวันที่ไม่ลา เต็มจำนวน 20% และท่านได้มีการประเมินผลงานแบบ 360 องศา โดยลูกน้องสามารถประเมินหัวหน้า และหัวหน้าสามารถประเมินลูกน้อง นอกจากนี้ ท่านได้แนะนำเพิ่มเติมว่า แต่ละคนมีเงินเดือนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น การทำงานต้องเป็นไปตามเงินเดือนของแต่ละคน เช่น เงินเดือน 10,000 บาท ต้องทำงานให้ได้ 50,000 บาท กล่าวคือ ต้องทำงานให้ได้ 5 เท่าของเงินเดือน หน่วยงานจึงอยู่ได้ และเงินเดือน 50,000 บาท จะมาทำงานเหมือนคนเงินเดือน 10,000 บาท คงเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ ตำแหน่งงานใด ที่เก็บไว้แล้ว ไม่เกิดผลงาน หากเกษียณแล้ว ตัดทิ้งไปเลย และตำแหน่งที่มีอยู่ หากเกิดประโยชน์ ต้องให้กำลังใจ เวลาชมลูกน้อง ต้องชมต่อหน้า แต่เวลาต่อว่า ต้องเรียกมาต่อว่าในห้องส่วนตัว ท่านเล่าถึงประสบการณ์ว่า หากวันไหนแม่บ้านไม่มา ผู้อำนวยการต้องกวาดขยะได้ เพราะถ้าแม่บ้านไม่มาทำงาน ก็ไม่เป็นไร มีคนทำแทนทันที ต้องทำให้พนักงานรู้ว่า หากไม่มีเขา เราอยู่ได้ และไม่ได้มีผลกระทบใดๆ
ท่านมองว่า ทุกคนมีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละคนทำงาน ไม่ต้องทำทุกเรื่อง ผู้บริหารต้องเป็นคนต่อจิ๊กซอว์ (jigsaw) ทำให้เป็นภาพที่สวยงาม มอบศักดิ์ศรีและสิทธิ รวมทั้งคุณและโทษให้เท่าเทียมกัน ท่านบอกว่า ความสุขในการทำงาน คือ อยากมาทำงานทุกวัน แม้แต่วันหยุดก็อยากมาทำงาน
ก่อนจบการบรรยาย ท่านยังมีความฝันในอนาคตที่จะเปิดรีสอร์ทขนาดใหญ่ มีสถานที่อำนวยความสะดวกแบบครบวงจร เช่น โรงพยาบาลที่ทันสมัย โรงเรียนนานาชาติ รวมทั้งบ้านที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งท่านคิดใหญ่ ไม่ได้คิดเล็ก ท่านบอกว่า คำปรามาส คือ แรงผลักดัน ทำให้พิสูจน์ตัวเอง และท้ายสุด ท่านได้ฝากข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ผู้เขียนขอนำมาฝากแก่ท่านผู้อ่าน ดังนี้ “เมื่อมีวาสนา แม้ไม่อยากเจอ ก็ต้องเจอ เมื่อหมดวาสนา แม้ไม่อยากจาก ก็ต้องจาก”
———————————-