การจัดการความรู้ และองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Knowledge Management and Learning Organization)

เรียบเรียงโดย น.ส.บุญศิริ ศรีสารคาม

กองจัดการความรู้ ศูนย์ความรู้

>>>>>>>>>

ในศตวรรษที่ 21 โลกเราก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital)  มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ทุกคนเข้าถึงได้ด้วยการใช้ IT จากทุกมุมโลกแบบรวดเร็วในทันที (Realtime) คือ เวลาจริง องค์กรที่สามารถปรับตัวเองในการบริหารจัดการภายในให้สอดคล้องกับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันได้เท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดได้ ซึ่งต้องอาศัยผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับในองค์กรนั้นๆ สะสมความรู้และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยนำข้อมูลที่ได้มาเป็นประเด็นในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กรหรือหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เครดิตภาพ : https://th.wikipedia.org

การบริหารจัดการองค์กรโดยการวิเคราะห์ SWOT Analysis แต่เดิมจะวิเคราะห์องค์กรหรือหน่วยงานโดยเรียงจาก S จุดแข็ง -> W จุดอ่อน -> O โอกาส  -> T ภัยคุกคาม

ในยุคปัจจุบัน Porter (2016) ศาสตราจารย์ด้านการบริหารธุรกิจที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เสนอแนวคิดการประยุกต์หลักการทางเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและอุตสาหกรรมในการวิเคราะห์ และกำหนดกลยุทธ์ ของกิจการ) แนะนำให้วิเคราะห์ O ก่อนในการทำ SWOT เนื่องจาก O และ T เกิดขึ้นจากภายนอกองค์กรหรือหน่วยงาน โดย O คือ โอกาสที่เป็นผลบวก และ T คือ ภัยคุกคามที่เป็นผลลบต่อองค์กร แล้วจึงวิเคราะห์ S และ W ดังนั้น ในการบริหารองค์กรจึงควรให้ความสำคัญกับสภาวะแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลกับองค์กรก่อน

ในแต่ละองค์กรจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสะสมความรู้ข้อมูลข่าวสาร  ต้องทำให้บุคลากรทุกระดับมีความตื่นตัวในการหาความรู้หาข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำข้อมูลที่ได้มากำหนดกลยุทธ์ขององค์กรและหน่วยงานให้สอดคล้องกับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงได้  เพื่อการอยู่รอดขององค์กร

เครดิตภาพ : http://www.johngirard.net

การจัดการความรู้ (Knowledge  Management – KM) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อองค์กร เพราะโลกเรากำลังก้าวสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งความหมายของการจัดการความรู้ คือ  การรวบรวมความรู้  การจัดระบบความรู้ การจัดเก็บความรู้ และการเข้าถึงข้อมูลเพื่อสร้างเป็นความรู้ได้โดยง่าย    มีการแบ่งปันและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้แก่องค์กร

ความรู้ (Knowledge) คือ บทสรุปของความเข้าใจ เนื้อหาเป็นความจริง ผ่านการพิสูจน์และทดลอง สามารถตั้งเป็นกฎ นำไปปฏิบัติงานได้จริง หรือสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งสามารถทำนายผลได้

การจัดการความรู้ (Knowledge Management) คือ การดึงเอาความรู้ที่กระจัดกระจายฝังอยู่ทั่วไปภายในองค์กร ออกมารวบรวมและแบ่งกลุ่ม จัดเก็บให้เป็นองค์ความรู้ขององค์กร เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาสู่ องค์กรแห่งการเรียนรู้ต่อไป

ชนิดความรู้ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. Tacit Knowledge  คือ ความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละบุคคลที่ได้มาจากประสบการณ์และความสามารถส่วนตัว เทคนิค ความชำนาญในการปฏิบัติงาน ยากที่จะเขียนหรืออธิบายออกมาได้

2. Explicit Knowledge  คือ ความรู้ที่สามารถอธิบายหรือเขียนออกมาได้โดยง่าย เช่น คู่มือการปฏิบัติงาน  วิธีการใช้เครื่องมือต่างๆ  ในเอกสาร ISO คือ WI (Working Instruction)  เขียนขั้นตอนการทำงานตั้งแต่เริ่มจนจบ วิธีการปฏิบัติ และเทคนิคที่ใช้ รวมถึงตัวชี้วัดผลด้วย เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร มีภาพประกอบ หรือบันทึกเป็นคลิป VDO เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้จาก Tacit เป็น Explicit ฝากไว้ให้คนรุ่นหลังในตำแหน่งงานเดียวกันได้เรียนรู้ได้เร็วขึ้นและนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้ถูกต้อง ถือว่าเป็นการจัดการความรู้

วิธีการทำ เรื่องการจัดการความรู้สามารถทำจากวิธีหลักๆ ได้ ดังนี้

1. การเขียนคู่มือการทำงาน (Working Instruction) โดยเลือกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละหน่วยงานเป็นผู้เขียนคู่มือ แล้วให้หัวหน้าเป็นผู้ตรวจทานความถูกต้องสมบูรณ์ และอนุมัติให้ใช้งาน

2. การจัดอบรมเรื่องหลักการสอนงานให้หัวหน้างานทุกระดับ (Coaching) เป็นการถ่ายทอดความรู้ในตัวผู้สอนงานให้กับเพื่อนร่วมงานหรือทีมงาน  ซึ่งการจะถ่ายทอดโดยการสอนนั้น ผู้ถ่ายทอดจะต้องเรียนรู้ทักษะของการสอนงานหรือเทคนิคการถ่ายทอดความรู้ก่อน เช่น เทคนิคการบรรยาย การยกตัวอย่าง การทดสอบปฏิบัติ หรือการสร้างบทบาทสมมุติ เป็นต้น

3. จัดหาซอฟแวร์สำเร็จรูปเรื่องการจัดการความรู้ (Software KM) และใส่ไว้ในระบบ Intranet ขององค์กร ทำให้การเข้าถึงความรู้ได้ง่าย มีประโยชน์ต่อบุคลากรในองค์กรในการหาความรู้ได้สะดวก

ประโยชน์ของการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ที่สำคัญ ดังนี้

1. สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ต้องการได้โดยง่ายและรวดเร็ว

2. มีการจัดความรู้ต่างๆ เป็นหมวดหมู่ มีระบบจัดเก็บ

3. ทำให้ความรู้เกิดการกระจายตัวไปสู่บุคลากรขององค์กรในวงกว้าง

4. กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

5. สามารถพัฒนาต่อยอดความรู้ให้เพิ่มขึ้นได้

องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เป็นแนวคิดในการพัฒนาองค์กร โดยเน้นการพัฒนาการเรียนรู้สภาวะของการเป็นผู้นำในองค์กร (Leadership) และการเรียนรู้ร่วมกันของคนในองค์กร (Team Learning) เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะร่วมกัน รวมทั้งพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องทันต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขัน

เอกสารอ้างอิง :

สุทธินันท์, อเนกลาภ. 2015. การจัดการความรู้ และองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Knowledge Management and

Learning Organization). [Video]. กรุงเทพฯ : webaneklarp. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.youtube.com/watch?v=YtIiuIufaN4&t=902s, [เข้าถึงเมื่อ 2 ธันวาคม 2559].

Porter, Michael. 2016. Guru of Management. [online]. Available at :           http://file.siam2web.com/cmmba/micheal_e.porter.pdf, [accessed 2 December 2016].

 

ใส่ความเห็น