การรับรู้รายได้จากโครงการเงินนอกงบประมาณ

จากการที่ผู้บริหารโครงการหรือนักวิชาการ ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกับหลักเกณฑ์การบันทึกบัญชีรับรู้รายได้ของโครงการเงินนอกงบประมาณ และการรับรู้รายได้ของโครงการเงินนอกงบประมาณยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ KPI ที่ใช้การรับรู้รายได้ของการบันทึกบัญชีเป็นตัวชี้วัด เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จึงขอสรุปสาระสำคัญของหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริหารโครงการหรือนักวิชาการ

จากมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 37 เรื่องการรับรู้รายได้ของสมาคมนักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชีอนุญาตแห่งประเทศไทย ที่ วว.ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน มีประเด็นหลักทางการบัญชีสำหรับรายได้ คือ กำหนดว่าเมื่อใดกิจการควรรับรู้รายการเป็นรายได้ แม่บททางการบัญชีได้กำหนดไว้ว่า “รายได้ควรรับรู้เมื่อมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตของรายการจะเข้าสู่กิจการ และกิจการสามารถวัดมูลค่าของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของรายการดังกล่าวได้อย่างน่าเชื่อถือ” ดังนั้น เมื่อ วว.ได้รับเงินอุดหนุนโครงการ จะบันทึกบัญชีเป็นเจ้าหนี้โครงการ และจะทยอยตัดเจ้าหนี้โครงการ รับรู้เป็นรายได้เงินอุดหนุนโครงการเท่ากับค่าใช้จ่ายโครงการตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปในแต่ละงวดบัญชี และเมื่อโครงการเสร็จสิ้นลงในงวดบัญชีใด จะปิดยอดเงินคงเหลือในบัญชีเจ้าหนี้โครงการเข้าเป็นรายได้เงินอุดหนุนอื่น ในกรณีที่ วว.ทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายแทนโครงการไปก่อนจะบันทึกโครงการเป็นลูกหนี้

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจวิธีการทางบัญชี ที่ วว.ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 37 เรื่องการรับรู้รายได้จึงขอยกตัวอย่าง ดังนี้

โครงการ ก. มีระยะเวลา 2 ปี โครงการเริ่มวันที่ 1 สิงหาคม 2554 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 จำนวนเงิน 1,500,000 บาท กำหนดรับชำระ 3 งวด และในแต่ละงวดที่มีการชำระเงิน จะต้องหักค่าบริการส่วนเพิ่ม 20% เพื่อเข้า วว.ทุกครั้ง

งวดที่ 1 รับชำระวันที่เริ่มโครงการ (1 สิงหาคม 2554) จำนวนเงิน 700,000 บาท ค่าบริการส่วนเพิ่ม 20% จำนวนเงิน 140,000 บาท มีค่าใช้จ่ายจำนวน 200,000 บาท

งวดที่ 2 รับชำระวันที่ 1 สิงหาคม 2555 จำนวนเงิน 400,000 บาท ค่าบริการส่วนเพิ่ม 20% จำนวนเงิน 80,000 บาท มีค่าใช้จ่ายจำนวน 300,000 บาท

งวดที่ 3 รับชำระวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 จำนวนเงิน 400,000 บาท ค่าบริการส่วนเพิ่ม 20% จำนวนเงิน 80,000 บาท มีค่าใช้จ่ายจำนวน 300,000 บาท, ค่าสมนาคุณนักวิจัยตามสัญญาจำนวน 112,500 บาท, เงินรางวัลนักวิจัย 60,000 บาท

จากตารางข้างต้น วว.จะรับรู้เป็นรายได้ของโครงการ(ในบัญชีรายได้เงินอุดหนุนโครงการ) เท่ากับค่าใช้จ่ายโครงการตามจำนวนเงินที่จ่ายไปในแต่ละงวดบัญชี คือ ปีงบประมาณ 2554 บันทึกเข้าเป็นรายได้ จำนวนเงิน 200,000 บาท ปีงบประมาณ 2555 บันทึกเข้าเป็นรายได้ จำนวนเงิน 300,000 บาท และปีงบประมาณ 2556 บันทึกเข้าเป็นรายได้ จำนวนเงิน 472,000 บาท

เมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว สรุปผลการดำเนินงานทางด้านการเงินเพื่อรับรู้รายได้ตามจำนวนเงินคงเหลือของโครงการ โดยนำรายรับโครงการทั้งหมด หักค่าใช้จ่ายโครงการทั้งหมด (1,500,000 – 972,500 = 527,500) รับรู้เป็นรายได้อยู่ในบัญชีเงินอุดหนุนอื่น จำนวนเงิน 527,000 บาท (เงินคงเหลือจำนวน 527,000 บาท เป็นเงินที่เหลือรวมหักค่าบริการส่วนเพิ่ม 20% เข้า วว. รวมอยู่ด้วยจำนวน 300,000 บาท)

หากโครงการสามารถปิดโครงการได้ภายในปีงบประมาณ 2556 การรับรู้รายได้โครงการปีงบประมาณ 2556 จะเท่ากับ 472,500 + 527,500 = 1,000,000 บาท ซึ่งสามารถนำไปวัด KPI ได้

โดย นางปริญดา โพธิ์ใย

 

 

ใส่ความเห็น