การสื่อสาร…. สำคัญไม่น้อย

การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์  ตั้งแต่เราลืมตา จนหลับตา  ล้วนแล้วแต่มีการสื่อสาร

  • ตื่นแล้วเช็คไลน์
  • กดไลค์เพื่อนใน Facebook
  • อาบน้ำอุ่น ทาโลชันก่อนมาทำงาน
  • ก่อนออกจากบ้านสวัสดีแม่
  • ซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งทานเป็นอาหารเช้า
  • ขับรถมาร้องเพลงไปด้วย
  • เจอเพื่อนที่หน้าลิฟท์  แล้วยิ้มให้
  • อ่านโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานกิจกรรม  KM Day
  • เข้าประชุม Sepa
  • ครูสอนนักเรียน
  • ดูข่าวสารทางทีวี/ฟังวิทยุ  ภายในประเทศและต่างประเทศ
  • หัวหน้ามอบหมายงานแก่ลูกน้อง
  • คุยกับเพื่อนบ้าน
  • ส่งจดหมาย,ส่ง e-mail

ไม่ว่าจะอยู่คนเดียว หรือหลายคน   ในความหมายนั้น การสื่อสาร หมายถึง การถ่ายทอดข่าวสาร  ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์  ความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการจากผู้ส่งสาร โดยผ่านสื่อต่าง ๆ ที่อาจเป็นการพูด การเขียน  สัญลักษณ์ ไปยังผู้รับสาร

พบว่า   ทุกวันนี้ที่คนเรามีปัญหากัน ก็เกิดจากปัญหาของการสื่อสารและไม่สื่อสาร

  • พูดมากไป  มีเรื่อง
  • พูดน้อยไป เขาไม่เข้าใจ
  • ไม่พูด ยิ่งไม่เข้าใจ
  • ไม่พูด แต่มีท่าทางที่ไม่ดี เขาก็อาจตีความไปอีกอย่าง  ทำให้เกิดเรื่องได้

การสื่อสารมีทั้งแบบ อวัจนภาษา  คือ ภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำ/ไม่ใช่ภาษาเขียน (อากัปกิริยา  ท่าทาง   น้ำเสียง สายตา หรือใช้วัตถุ  การใช้สัญญาณ สัญลักษณ์  และ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ )  และวัจนภาษา  คือ การพูด การเขียน  พบว่า  การสื่อสารด้วยการพูดที่มีประสิทธิภาพ  ประกอบไปด้วย พูดให้สั้นกระชับ ใช้คำสุภาพ อ่อนโยน  ชัดเจน มีหางเสียง เข้าใจง่าย และตรงประเด็น หากการทักทายก็ต้องใช้ภาษากาย ภาษาใจที่ดี คือ  สุภาพ  เป็นมิตร  จริงใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส  สบตาเวลาพูด หากติดต่อเรื่องงาน  ควรแต่งกายที่เหมาะสมถูกกาลเทศะ  ที่สำคัญ  ควรสร้างเสน่ห์ในการพูด คือพูดดี คิดดี และทำดี   ดังสุภาษิตที่ว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก” การพูดดี หมายถึงพูดในสิ่งที่ควรพูด ไม่พูดให้คนอื่นเสียหาย หรือเดือดร้อน  เป็นต้น  ส่วนอวัจนภาษา พึงแสดงออกด้วยท่าทางที่สุภาพ ให้เกียรติ ไม่ใช้กิริยาท่าทางที่ก้าวร้าว สร้างศัตรู ดูถูก  เพราะใครๆก็ชอบการให้เกียรติกันและกันทั้งสิ้น

ที่สำคัญ หากต้องไปติดต่อสื่อสารภายนอกหน่วยงาน ควรสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร  ด้วยส่วนสำคัญดังนี้

1. มีบุคลิกภาพน่าเชื่อถือ/ไว้วางใจ

2. มีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง/ผู้อื่น

3. มีความรอบรู้ข้อมูลที่จะสื่อสาร เพื่อสร้างความมั่นใจในตนเอง

4. มีความสุข  สดชื่น และอารมณ์ดี  มีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม แสดงถึงความเป็นมิตร  รู้จักกาลเทศะ มี

ความสุภาพอ่อนโยน มีเมตตา

5. มีการเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการติดต่ออย่างพร้อมเพรียง

เมื่อสื่อสารดี  เข้าใจซึ่งกันและกันดีแล้ว  จะทำงานการใดก็ไม่มีปัญหา ถึงจะมีก็น้อยมาก  ทำให้คนอยู่ร่วมกันและทำงานอย่างมีความสุข  งานบรรลุตามเป้าหมาย  ประหยัดเวลา  ผลงานมีประสิทธิภาพ    ทำให้มนุษย์สามารถสืบทอด  พัฒนา ศึกษาวัฒนธรรมของตนเองและสังคมได้  ทำให้เกิดปัญญา การเรียนรู้และมีโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น

…………………………..

*สรุปจากการรับฟังบรรยาย เรื่อง การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ  โดย นางสาวอัปสร เสถียรทิพย์ ผู้อำนวยการกองจัดการความรู้ ศูนย์ความรู้ วว.  ในการอบรม หลักสูตร “ TISTR Capacity Building : Leading  to Professional Practice

การพัฒนาสมรรถนะนักวิจัยและนักวิชาการ วว. สู่เส้นทางมืออาชีพ” รุ่นที่ 3

โดย…สมเกียรติ  ธรรมสูน  กจค.

ใส่ความเห็น