ตอนที่ 1 : “มารู้จักการเปลี่ยนสื่อให้ง่ายขึ้นด้วย Infographics สื่อแห่งอนาคต”
เรียบเรียงโดย กนกพร ปรีเปรม
กองจัดการความรู้ ศูนย์ความรู้
>>>>>
จากการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หลักสูตร “เปลี่ยนการสื่อสารให้ง่ายขึ้นด้วย Infographics สื่อแห่งอนาคต” โดยวิทยากร อาจารย์พิชญ์ศิณี แขเพ็ญอำไพ ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ความรู้ที่ดีและขอนำมาแบ่งปัน
Infographics มาจากคำว่า Information และ Graphics หมายถึง การนำข้อมูลหรือความรู้มาสรุปเป็นสารสนเทศในลักษณะของข้อมูลและกราฟิกที่อาจเป็นลายเส้น สัญลักษณ์ กราฟ แผนภูมิ แผนภาพ ฯลฯ ที่ออกแบบเป็นภาพ เพื่อให้เนื้อหาหรือข้อมูลที่ต้องการนำเสนอสามารถสื่อให้เข้าใจความหมายได้ง่าย และชัดเจน Infographics มีอิทธิพลมากในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ทุกแขนง ทั้งวิทยาการ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสถิติศาสตร์ และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของนักการตลาด นักการเงิน นักประวัติศาสตร์ องค์กร เพื่อการนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนให้ดูเข้าใจง่ายขึ้น
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศท.สป.) ในฐานะหน่วยงานดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการใช้ IT ได้เห็นว่าความรู้ในการออกแบบสื่อ Infographics จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานต่อไป จึงได้จัดหลักสูตรนี้ขึ้น
เนื้อหาหลักสูตร
Infographics คืออะไร…ใครอยากทราบบ้าง
Infographics นั้นย่อมาจาก Information Graphic ซึ่งหมายถึง ภาพหรือกราฟิกที่บ่งชี้ถึงข้อมูล ที่เป็นเชิงสถิติ ความรู้ ตัวเลข ฯลฯ หรือเรียกว่าเป็นการย่อข้อมูล เพื่อให้เกิดการประมวลผลได้ง่ายแค่กวาดตามอง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้คนในยุคไอทีที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลซับซ้อนมหาศาลในเวลาอันจำกัด (เหตุผลเพราะมนุษย์ชอบและจดจำภาพสวยๆ ได้มากกว่าการอ่าน) และในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมในโลกของ Social Network
Information นั้นหมายถึงสารสนเทศ หรือข้อมูลที่ถูกประมวลผลและจัดระบบไว้แล้ว ส่วนคำว่า Graphic นั้นเป็นคำที่เรียกภาพหรือลวดลายประกอบต่างๆ ที่สามารถปรากฏในมุมมองหรือวัสดุที่หลากหลาย เมื่อรวมกันแล้ว Infographics จึงเป็นการแสดงข้อมูลหรือความรู้ที่ผ่านการสรุปย่อแล้วเป็นแผนภาพ เพื่อให้เนื้อหาหรือข้อมูลที่ต้องการนำเสนอสามารถอ่านและเข้าใจได้ง่าย และในปัจจุบันนี้ Infographics เข้ามามีอิทธิพลมากในการบอกเล่าเรื่องราวทุกแขนง ทั้งทางด้านวิชาการ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสถิติศาสตร์ จนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของนักการตลาด นักการเงิน นักประวัติศาสตร์ บริษัทห้างร้าน รวมถึงนักการศึกษาเพื่อการแสดงข้อมูลที่ซับซ้อนให้ดูเข้าใจง่าย
ประโยชน์และพลังของ Infographics นั้นมีอยู่มากมาย เพราะด้วยแผนภาพที่มีความสวยงามนี้ สามารถทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึง เข้าใจ ข้อมูลเชิงปริมาณมากๆ ด้วยแผนภาพเพียงภาพเดียวได้ ด้วยข้อมูลที่ถูกคัดกรองมาเป็นอย่างดี ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย เป็นวิธีการนำเสนอข้อมูลเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถหยิบยกเรื่องราวเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องราวใหญ่โตมานำเสนอในมุมมองที่แปลกตา ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ในโลกปัจจุบัน โดยรูปแบบหรือประเภทของ Infographics ตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน
หัวใจของ Infographics
การทำ Infographics ถือเป็นโอกาสให้กราฟิกดีไซเนอร์ได้โชว์ทักษะด้านการสื่อสารกันแบบเต็มที่ เนื่องจากการแปลข้อมูลให้ออกมาเป็นภาพนั้น เป็นสิ่งที่คนเราทำกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด กราฟิก กราฟรูปทรงต่างๆ ตาราง แผนที่ แผนผัง หรือไดอะแกรม แต่ทักษะทางด้าน Infographics นั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องจัดระเบียบข้อมูลที่มีจำนวนมากและหลากหลายให้ “จบได้ในภาพเดียว”
Infographics มีมานานแล้ว…
การทำงานของ Infographics ในยุคแรกๆ มีที่มาจากฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) พยาบาลในตำนานผู้อุทิศตนดูแลคนไข้อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย นอกจากเป็นพยาบาลแล้วไนติงเกลยังเป็นผู้ออกแบบ Infographics ที่มีคุณูปการต่อการสาธารณสุข (ของทหารและชนชั้นล่าง) อย่างมหาศาล ด้วยการอุทิศเวลารวบรวมข้อมูลและออกแบบ “กุหลาบไนติงเกล” ไดอะแกรมทรงพลังระดับเปลี่ยนสังคมขึ้นมาได้
แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.tcdc.or.th/src/16562/www-tcdcconnect-com/Infographic/
จากการได้เข้าไปดูแลทหารที่ผ่านสงครามมาในค่าย เธอพบว่า สิ่งที่คร่าชีวิตของทหารผ่านศึกได้ในจำนวนมากเท่าๆ กับทหารที่ตายในสงคราม นั้นก็คือ สภาพความเป็นอยู่ในสถานพยาบาลของทหารที่ทั้งความสกปรกและแออัดเบียดเสียด ทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงและเกิดการสูญเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น ไนติงเกลเสนอข้อมูลนี้ต่อรัฐ แต่สถาบันชั้นสูงไม่สนใจเสียงเรียกร้องของพยาบาลตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เธอจึงคิดค้นหาทางนำเสนอข้อมูลใหม่โดยปรึกษากับนักสถิติศาสตร์ จนในที่สุด ไนติงเกลก็สามารถออกแบบ Diagram of the Causes of Mortality ที่เปรียบเทียบส่วนต่างของจำนวนการเสียชีวิตของทหารจากเหตุสุดวิสัยและเหตุที่สามารถป้องกันได้ด้วยการสาธารณสุขที่ดีขึ้น แทนที่จะนำเสนอเป็นตารางบรรจุข้อมูลยาวเหยียด ไดอะแกรมของไนติงเกลบ่งชี้ความต่างของข้อมูลด้วยสีและขยายพื้นที่ออกจากศูนย์กลางจนดูเหมือนกลีบดอกกุหลาบ (ในเวลาต่อมาผู้คนจึงเรียกผลงานชิ้นนี้ว่า Nightingale Rose Diagram)
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล รู้ว่าเธอมีเวลาดึงความสนใจจากผู้มีอำนาจได้ไม่มาก ฉะนั้น เธอจึงต้องนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่ทั้งดึงดูดที่สุดและเข้าใจง่ายที่สุดไปพร้อมกัน เธอเริ่มเผยแพร่ไดอะแกรมนี้สู่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง (ไปจนถึงพระราชินีวิคตอเรียที่ก็มีโอกาสได้ทอดพระเนตร) จนในที่สุด ข้อเสนอของเธอก็ได้ถูกรับฟัง และส่งผลให้การสารธารณสุขในค่ายทหารค่อยๆ พัฒนาดีขึ้น
คลื่นพลังใหม่ในเครือข่ายสังคม
ถึงแม้ Infographics จะเกิดขึ้นมาเนิ่นนานในหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่ผลักดันให้ “อิน” สุดๆ ได้ ณ ขณะนี้ก็เพราะเป็นสิ่งที่นำมาทำงานร่วมกับ “เครือข่ายสังคม” ที่สามารถกระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายเหมือนไฟลามทุ่งนั่นเอง
การใช้งาน Infographics เพื่อสื่อสารข้อมูลที่มีความซับซ้อนเริ่มได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายในปี 2005 เกิดการกระจายอย่างรุนแรงมากขึ้นมาพร้อมๆ กับเว็บอย่าง dig และ reddit ที่รวบรวมและเผยแพร่ข่าวสารบทความด้านเทคโนโลยี Infographics สามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายสังคมโดยเปิดช่องทางให้ใครก็ได้โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจขึ้นมา และหากโพสต์นั้นเข้าท่า สมาชิกก็เข้ามาช่วยกัน “ขุด” (dig) ยิ่งโพสต์ไหนมียอดขุดเยอะก็ยิ่งขึ้นมาอยู่ด้านบนเหนือโพสต์อื่นๆ เหตุนี้ทำให้บรรดาบล็อกเกอร์นักโพสต์ต่างแข่งขันกันจัดเต็มให้กับโพสต์ของตัวเอง ใส่ลูกเล่นกันเต็มที่ทั้งภาพ ดนตรี ไฟล์วิดีโอ ฯลฯ จนในที่สุด ก็มีคนหัวใสงัดเอา Infographics ขึ้นมาใช้เป็นไม้ตาย ทำให้ Infographics ได้รับความนิยมและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปสู่วงการต่างๆ
ในต่างประเทศ Infographics ถือเป็นอาวุธสำคัญของสำนักข่าวต่างๆ ที่ใครออกแบบได้เจ๋ง สวย สื่อสารดี ก็จะถือไพ่เหนือกว่า เมื่อครั้งที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2008 สำนักข่าวทุกแห่งต่างพากันออกแบบ Infographics เพื่อรายงานความคืบหน้า คะแนนนิยม รวมไปถึงแคมเปญหาเสียงต่างๆ ของผู้สมัคร หลายคนยังใช้ Infographics เพื่อช่วยอธิบายถึงนโยบาย การใช้งบประมาณ และอื่นๆ ด้วย
ติดตามอ่านตอนที่ 2 : “มารู้จักการแบ่งหมวดหมู่ของ Infographics สื่อแห่งอนาคต” ในโอกาสต่อไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ขอบคุณที่มาข้อมูล และภาพประกอบจาก
แขเพ็ญอำไพ พิชญ์ศิณี, 2558. เปลี่ยนการสื่อสารให้ง่ายขึ้นด้วย Infographic สื่อแห่งอนาคต. กรุงเทพ : บริษัท เอไอทีซี จำกัด, หน้า 2-27.
กุหลาบไนติงเกล. 2558. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.tcdc.or.th/src/16562, [เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2558].