โดย นางสาวเมกาวตี โฉมทอง
นักบริหารการเงินการคลัง
กองพัฒนาบุคคล ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
>>>>>
สวัสดีคะท่านผู้อ่านบทความทุกท่าน ในโอกาสสำคัญนี้ดิฉันใคร่ขออนุญาตเผยแพร่ความรู้ ในหัวข้อ “กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หลักประกันเพื่อคนวัยเกษียณ” โดยแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ดิฉันอยากจะเผยแพร่เรื่องดังกล่าวนี้ เนื่องจากดิฉันได้ปฏิบัติงานสังกัดกองพัฒนาบุคคล ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่อยู่ภายใต้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของบุคลากร วว. ภายหลังเกษียณ ว่าบุคลากรของ วว.จะมีหลักประกันใดบ้างรองรับภายหลังการเกษียณ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นในการออมระยะยาว และยังเป็นการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีหลักประกันของชีวิตภายหลังการเกษียณอีกด้วย ดังนั้น เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นดิฉันจึงขอจำแนกประเภทบุคลากรของ วว. และรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ภายหลังเกษียณของบุคลากรแต่ละประเภท ดังนี้
ประเภทบุคลากร |
หลักประกันหลังเกษียณ
|
1. พนักงาน |
กองทุนสงเคราะห์ / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ |
2. ลูกจ้างประจำ |
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ |
3. ลูกจ้างทั่วไป |
– |
4. ลูกจ้างเฉพาะกิจ |
– |
5. ลูกจ้างเหมา |
– |
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าบุคลากรของ วว. ได้แก่ ลูกจ้างทั่วไป ลูกจ้างเฉพาะกิจ และลูกจ้างเหมา ในปัจจุบัน วว.ยังไม่ได้มีการจัดตั้งกองทุนใดๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันภายหลังการเกษียณแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าบุคลากรดังกล่าวจะไร้ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่พึงควรได้รับจากหน่วยงาน แต่บุคลากรดังกล่าวก็ยังได้รับการรับรองหลักประกันภายหลังเกษียณ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กอช.” ดังนั้น เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “กอช.” ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่พึ่งเกิดขึ้นมาใหม่ในสังคมไทย ดิฉันจึงขอให้ความรู้เกี่ยวกับ “กอช.” โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. กองทุนการออมแห่งชาติคืออะไร
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ “ กอช.” เป็นกองทุนการออมเพื่อผู้สูงอายุที่ให้สิทธิ์ประชาชนสัญชาติไทยเข้าเป็นสมาชิกระบบบัญชีรายบุคคล โดยกองทุนเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบการออมเพื่อการชราภาพที่ครอบคลุมภาคแรงงานทุกประเภทได้อย่างทั่วถึง ซึ่งยังมีแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพและ แรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจนในวัยสูงอายุ เพราะไม่มีช่องทางให้เข้าถึงเครื่องมือการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน ดังนั้น รัฐบาลจึงจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ
2. คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ
2.1 เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2.2 อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
2.3 ไม่อยู่ในระบบกองทุนตามกฎหมายอื่นที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้าง เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เป็นต้น ยกเว้นข้าราชการบำนาญที่อายุยังไม่ถึง 60 ปี ให้มีสิทธิสมัครกองทุนนี้ได้
3. สถานที่สมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ
การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติสามารถที่จะสมัครสมาชิกและส่งเงินสะสมได้ ณ ธนาคารของรัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคาร กรุงไทย (ทุกสาขา)
4. การจ่ายเงินเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ
แหล่งที่มาของเงินที่จะนำเข้ากองทุนการออมแห่งชาติจะมีที่มาจาก 2 แหล่ง คือ เงินสะสมจากสมาชิก และเงินสมทบจากรัฐ ซึ่งทั้งสมาชิกและรัฐจะมีหน้าที่ในการจ่ายเงินเข้ากองทุนตามสัดส่วน ดังนี้
4.1 สมาชิกที่อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี ได้รับเงินสมทบร้อยละ 50 ของเงิน ที่สะสมเข้ากองทุน แต่ไม่เกินปีละ 600 บาท
4.2 สมาชิกที่อายุมากกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี ได้รับเงินสมทบร้อยละ 80 ของเงิน ที่สะสมเข้ากองทุน แต่ไม่เกินปีละ 960 บาท
4.3 สมาชิกที่อายุมากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี ได้รับเงินสมทบร้อยละ 100 ของเงินที่สะสมเข้ากองทุน แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท
5. การได้รับเงินเมื่อพ้นจากสมาชิก
เมื่อพ้นจากความเป็นสมาชิกผู้ที่เคยเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติจะมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนในอัตรา ดังนี้
5.1 อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ได้รับบำนาญรายเดือนตามหลักเกณฑ์ที่กองทุนกำหนด
5.2 ทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจะได้รับเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
5.3 ลาออกจากกองทุน ได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม
5.4 เสียชีวิต ได้รับเงินเท่าจำนวนในบัญชีของแต่ละบุคคล
6. หากต่อมาสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างเอกชน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กองทุนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จะต้องลาออกจากกองทุนการออมแห่งชาติหรือไม่
สำหรับกรณีนี้หากต่อมาลูกจ้างทั่วไป ลูกจ้างเฉพาะกิจ และลูกจ้างเหมาของ วว.ที่ได้สมัครเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติแล้ว สามารถสอบเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นพนักงานหรือลูกจ้างประจำได้และได้รับการบรรจุ ซึ่งพนักงานและลูกจ้างประจำของ วว.ก็จะได้รับสิทธิตามข้อบังคับของ วว.ภายใต้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกของกองทุนดังกล่าวก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลาออกจากความเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติแต่อย่างใด แต่มีวิธีการที่จะดำเนินการได้ ดังนี้
6.1 ยกเลิกส่งเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติเมื่อเข้ามาเป็นพนักงาน วว.
6.2 เมื่อได้เข้าเป็นพนักงานวว. ยังคงสามารถส่งเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติได้ตามปกติต่อไป แต่รัฐจะไม่จ่ายเงินสมทบให้
แต่หากต่อมาท่านได้ออกจากงานและมาเป็นแรงงานนอกระบบอีกครั้ง ท่านก็สามารถที่จะส่งเงินสะสมและได้รับเงินสมทบจากรัฐดังเดิม
ดังนั้นเมื่อท่านทั้งหลายได้อ่านบทความฉบับนี้แล้ว โดยเฉพาะบุคลากร กลุ่ม ลูกจ้างทั่วไป ลูกจ้างเฉพาะกิจ และลูกจ้างเหมา ควรที่จะรีบสมัครเพื่อรักษาสิทธิของตนเองในการสร้างหลักประกันที่มั่นคงภายหลังเกษียณให้กับตนเอง รวมถึงพนักงานและลูกจ้างประจำแม้ท่านจะไม่มีสิทธิ์ในการสมัครกองทุนนี้ แต่เมื่อท่านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนการออมแห่งชาตินี้แล้ว ท่านสามารถที่จะนำความรู้ดังกล่าวนี้ไปแนะนำให้แก่ญาติพี่น้องที่ยังเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ขาย นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น ให้รีบดำเนินการสมัครเพื่อรักษาสิทธิ์ที่พึงได้รับตามกฎหมายโดยเร็ว
อ้างอิงข้อมูลใช้ในการสืบค้น
- กอช. กองทุนการออมแห่งชาติ http://www.Snf.or.th./index/about-nsf.
- 20 คำถามเกี่ยวกับการออมแห่งชาติ (กอช.) http://www.fpo.go.th/Fpo/member-proflelit-admin/upload/file/20qiozpdf
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คืออะไร พร้อมกฎเกณฑ์, เงื่อนไข, ผลตอบแทน และคุณสมบัติผู้สมัคร http://www.zcooky.com/national-fund-thailand-and-conditions-benefits-quali
- “รู้ยังใครสมัคร” “กองทุนการออมแห่งชาติได้บ้าง?” http://www.money.sanook.com/296885/
- กองทุนการออมแห่งชาติ…หลักประกันเพื่อคนวัยเกษียณhttp://www.smilenewsdaily.com/page.php?a=10&n=145&cno=141