ของผมมี อย. ครับ

บทความ ๗๕/๒๕๕๙

โดย วีระเชษฐ์  จรรยากูล

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ

>>>>>

เรื่องนี้เมื่ออ่านแล้วจะเห็นว่าหน่วยงานของรัฐพยายามจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้น ก่อนจะซื้ออะไรไปใช้ของตัวเองหรือใช้ในครอบครัวก็ละเอียดสักนิดนะครับ อ่านฉลากให้ดี ในส่วนของผู้ประกอบการก็จะมีความรับผิดชอบในสินค้าผลิตภัณฑ์ของตนเองมากขึ้นด้วย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีข้อสงสัยว่า หากจะเผยแพร่ฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะโฆษณาอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ ตามที่ได้รับอนุญาตไปจากสำนักงานฯ แต่ติดตรงที่ว่าผลิตภัณฑ์ที่อนุญาตไปแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะนั้น เป็นข้อมูลที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้นำไปเปิดเผยต่อผู้อื่นตามมาตรา ๑๕ (๖) ถ้าจะเปิดเผยต้องแจ้งให้ผู้รับอนุญาตคัดค้านภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ แต่หากสำนักงานฯ จะเปิดเผยโดยอ้างอิงมาตรา ๙(๘) ที่กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต้องเปิดเผยให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ ยังต้องรับผิดตามมาตรา ๒๐ อีกหรือไม่ อย่างไร ก็เลยมีหนังสือไปหารือการปฏิบัติในกรณีนี้ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ นั่งหารือกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วได้ข้อสรุป จึงได้มีหนังสือตอบข้อหารือไปว่าการขออนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการนั้น อาจมีการยื่นขออนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์เดียวกันหลายๆ คำขอ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งจึงมีการอนุญาตและเลขที่อนุญาตให้โฆษณาหลายหมายเลข คืออย่างนี้ครับ เช่น ยาสีฟันขจัดคราบบุหรี่ชนิดหนึ่ง หรืออาหารเสริมผสมเห็ดชนิดเม็ดอย่างหนึ่ง เขาได้ยื่นคำขอมากกว่าหนึ่งฉบับ และเมื่ออนุญาตก็จะอนุญาตตามหนังสือที่ขอก็หมายความว่าทั้งยาสีฟัน และอาหารเสริมจะมีหมายเลขอนุญาต อย. มากกว่าหนึ่งหมายเลข แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้ประกอบการจะนำโฆษณาหมายเลขอนุญาตใดไปใช้เป็นสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์นั้น จึงประสงค์จะเผยแพร่ข้อมูลการอนุญาตโฆษณาอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ทุกๆ คำขอ ทุกๆ หมายเลขที่อนุญาตไป เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบตัวผลิตภัณฑ์ว่าตรงกับที่ขออนุญาตไว้หรือไม่ แม้ผู้ประกอบการจะยังไม่ได้เผยแพร่คำขออนุญาตนั้นเองก็ตาม สรุปว่า คำขออนุญาตโฆษณาอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ที่อนุญาตแล้วเป็นข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๙(๑) คือ ผลการพิจารณาที่มีผลกระทบต่อเอกชน และมาตรา ๙(๘) ที่กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ที่หน่วยงาน และต้องเผยแพร่ทางระบบสารสนเทศของหน่วยงานด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้รับอนุญาตคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวตามมาตรา ๑๗ แต่อย่างใด

เรื่องนี้น่าสนใจครับ เพราะมีผลดีต่อประชาชน ช่วยให้ใช้ดุลพินิจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีได้ สามารถใช้คุ้มครองสิทธิของตนเองได้จริงๆ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพค่อยๆ หายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ มีข้อสงสัยอยากหารือขอให้นึกถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการครับเพราะ “ข้อมูลโปร่งใสราชการพร้อมให้บริการ” ติดต่อสำนักงานฯ ได้ที่ ๐ ๒๒๘๓ ๔๖๘๐ www.oic.go.th (หารือ ๑๑ ก.พ./๒๕๕๙)

*เผยแพร่เอกสาร ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีขอความอนุเคราะห์*

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

  1. [Online]. Available at : http://mahosot.com/ยาลดความอ้วน-ไซบูทรามีน.html [accessed 15 June 2016].
  2. [Online]. Available at : http://www.skinbiotechthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539369928 [accessed 15 June 2016].
  3. [Online]. Available at : http://www.horapa.com/content.php?No=1245 [accessed 15 June 2016].

 

ใส่ความเห็น