โดย ไพศาล เรืองโชติ
กองซ่อมบำรุง ฝ่ายบริการกลาง
>>>>>
การอนุรักษ์พลังงาน หมายถึง การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด การอนุรักษ์พลังงานจึงเป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกหน่วยงาน และทุกองค์กรต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่าแหล่งพลังงานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต มีปริมาณลดน้อยลงและราคาสูงมากขึ้นจน อาจถึงขั้นวิกฤตพลังงานได้ในอนาคตอันใกล้นี้ หลายหน่วยงานจึงได้มีการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานมีมาตรการต่างๆ เพื่อประหยัดพลังงาน ตลอดจนออกพระราชบัญญัติการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์พลังงาน การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของพลังงาน และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดและยั่งยืนที่สุด ดังนั้นหลายองค์กร หลายหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านอนุรักษ์พลังงาน ได้เร่งรัดเพื่อปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนอนุรักษ์พลังงาน การรณรงค์มักใช้สื่อต่างๆ ประชาสัมพันธ์ การใช้คำขวัญ หรือคำแนะนำการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถกระตุ้นให้เกิดความต้องการที่จะอนุรักษ์พลังงานได้เป็นอย่างดี แต่เรามักสงสัยว่าเมื่อทำตามแล้ว จะช่วยประหยัดพลังงานได้มากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนหรือไม่ เช่น มีการประชาสัมพันธ์ให้งดใช้ลิฟต์ในระหว่างชั้นที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเราทราบอยู่แล้วว่า เมื่อเราไม่ได้ใช้ลิฟต์ย่อมมีส่วนร่วมประหยัดพลังงานอย่างแน่นอน แต่เราคงไม่ทราบว่าเรามีส่วนร่วมประหยัดพลังงานให้องค์กรได้มากน้อยเท่าไหร่ บทความนี้จะกล่าวถึงค่าพลังงานที่ต้องสูญเสีย เมื่อเราเรียกใช้ลิฟต์ในแต่ละครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบเป็นข้อมูล และร่วมมือกันประหยัดพลังงานกันต่อไป
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากลิฟต์โดยสารของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อาคารวิจัยและพัฒนา 1 ลิฟต์รุ่น VSF-17- CO105 หยุดรับ-ส่ง 8 ชั้น 8 ประตู ระยะทางเคลื่อนที่ 27.30 เมตร น้ำหนักบรรทุก 17 คน (1,150 กก.) ความเร็ว 105 เมตร/นาที
– มอเตอร์ขับเคลื่อน 15 kW
– ระบบควบคุม 400 W
– ไฟปุ่มกด 5 W ไฟบอกชั้น 5 W
– ระบบแสงสว่าง 18 W จำนวน 4 หลอด
– พัดลมระบายอากาศในห้องโดยสาร 45 W
– มอเตอร์ขับประตู 80 W
เมื่อเรากดเรียกลิฟต์ ลิฟต์ใช้เวลา 20 นาที วิ่งมารับ แล้วเปิด-ปิดประตู 12 วินาที จากนั้นวิ่งไปส่งยังชั้นที่ต้องการ ใช้เวลา 20 นาที ซึ่งสามารถคำนวณค่าพลังงานไฟฟ้าสูญเสียไปตามระยะเวลาที่ใช้งานได้จากสมการ Wm = kW of TM x (t/60)
– มอเตอร์ขับเคลื่อน 15 kW
15 kW x (40/3,600) = 0.17 kW-h
– ระบบควบคุม 400 W
400 W x (40/3,600) = 4.44 W-h
– ไฟปุ่มกด 5 W ไฟบอกชั้น 5 W
(5 W + 5 W) x (40/3,600) = 0.11 W-h
– ระบบแสงสว่าง 18 W จำนวน 4 หลอด
(18+6) W x 4 x (40/3,600) = 1.06 W-h
– พัดลมระบายอากาศในห้องโดยสาร 45 W
45 W x (40/3,600) = 0.5 W-h
– มอเตอร์ขับประตู 80 W
80 W x (12/3,600) = 0.27 W-h
รวมค่าพลังงานไฟฟ้าที่ต้องสูญเสียไปเมื่อเราเรียกใช้ลิฟต์
= 0.17 kW-h ((4.44 + 0.11 + 1.06 + 0.5 + 0.27)/ 1,000) kW-h
= 0.176 kW-h
คิดค่าไฟฟ้า 3 บาท/หน่วย (kW-h) เราต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อการกดลิฟต์ 1 ครั้ง เป็นเงิน 0.176 (kW-h) x 3 (บาท/ kW-h) = 0.5 บาท โดยประมาณ
ค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปต่อการใช้ลิฟต์ 1 ครั้ง อาจไม่มากมายนัก แต่ถ้าเราใช้ลิฟต์ ขึ้น-ลง วันละหลายๆ ครั้ง หลายๆ คน ปริมาณจำนวนมากเหล่านี้ทำให้การสูญเสียพลังงานไฟฟ้ามากตาม เช่น พนักงานใน วว. 200 คน ใช้ลิฟต์ทีละคน วันละ 4 ครั้งต่อวัน คิดเป็นเงิน 200×0.5 = 400 บาท ที่ต้องสูญเสียไปต่อการใช้ลิฟต์ในหนึ่งวัน 10,100 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 124,800 บาทต่อปี (คิดที่ 3 บาทต่อหน่วย ในอนาคต อาจปรับสูงขึ้นอีก) ดังนั้นในการใช้ลิฟต์ทุกครั้งควรคำนึงถึงความจำเป็นก่อนการเรียกใช้ลิฟต์เสมอ เช่น ถ้าเราต้องไปยังชั้นข้างเคียง (ขึ้นหรือลง 1 ชั้น) เราอาจใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ หรือใช้ลิฟต์ขึ้น-ลง ครั้งละหลายๆ คน ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดการใช้พลังงานได้ หรือเมื่อเราทราบดีแล้วว่า การเรียกใช้ลิฟต์ 1 ครั้ง เสียพลังงานไฟฟ้า 0.176 (kW-h) หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 0.5 บาท ถ้าเราไม่ใช้ลิฟต์ได้วันละ 2 ครั้ง เราสามารถช่วย วว. ประหยัดค่าใช้จ่ายได้คนละ 1 บาทต่อวัน เราก็เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานขององค์กรได้
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
- คู่มือการใช้ลิฟต์ของ วว.
- ภาพประกอบจากกระทรวงพลังงาน
- [Online]. Available at : https://www.cctvbangkok.com/บทความกล้องวงจรปิด/255_ใช้ลิฟต์-อย่าประมาท.html [accessed 22 June 2016].
- [Online]. Available at : http://oilsuwajee.blogspot.com/p/blog-page_6.html [accessed 22 June 2016].
- [Online]. Available at : http://pichai2908.blogspot.com/
- [Online]. Available at : http://www.med.cmu.ac.th/secret/maintain/energy/waytosave.html [accessed 22 June 2016].
- [Online]. Available at : http://deathmoon.exteen.com/page/15 [accessed 22 June 2016].
- [Online]. Available at : https://sites.google.com/site/arisara342/home/matrkar-prahyad-phlangngan [accessed 22 June 2016].