มุมมอง “แนวทางพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม”

 

เรียบเรียงโดย นายสุรพล ตนานนท์ชัย   กองจัดการความรู้ ศูนย์ความรู้

นางสาวภัทรานิษฐ์ เหลืองไชยยะ   มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

>>>>>

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายกิจกรรม I Talk for TISTR ครั้งที่ 7 เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2559 วิทยากรรับเชิญคือ อาจารย์มณฑา ไก่หิรัญ จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า นวัตกรรม และแนวทางการพัฒนาในอนาคต เราจึงนำความรู้เหล่านั้นมาเรียบเรียงและสรุปออกมาให้ทุกท่านที่สนใจได้อ่านเป็นแนวทางความรู้

ความสำคัญของนวัตกรรม

นวัตกรรมคือความคิด การกระทำ หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน รวมไปถึงการพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ประโยชน์ได้ดียิ่งขึ้น จึงส่งผลให้นวัตกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้ แรงงาน และทรัพยากรธรรมชาติ ให้สามารถสร้างเศรษฐกิจแนวทางใหม่ที่มีความยั่งยืนได้ แตกต่างจากแนวทางเดิมซึ่งใช้ต้นทุนแรงงานต่ำ และทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ที่อาจทำให้เศรษฐกิจนั้นไม่ยั่งยืน

นวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตของเศรษฐกิจในยุคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคเกษตร ยุคอุตสาหกรรม ยุคสารสนเทศ หรือยุคความรู้ เรียกได้ว่าความสามารถในการแข่งขันนั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพในการสร้างคุณค่าจากปัจจัยการผลิต ยิ่งสามารถคิดค้นนวัตกรรมที่มีประโยชน์และก้าวหน้าได้มากเท่าไร ผลประโยชน์ที่ได้จากการทำธุรกิจก็จะสูงขึ้นมากตามไปด้วย

นิยามและความหมายของนวัตกรรม

การวิจัยคือการใช้เงินสร้างความรู้ และนวัตกรรมคือการเปลี่ยนความรู้นั้นมาเป็นเงินทอง จึงสามารถกล่าวได้ว่านวัตกรรมคือสิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม สิ่งประดิษฐ์และงานวิจัยสามารถเรียกได้ว่าเป็น “ก้าวแรกของนวัตกรรม” เช่น ผู้คนในสมัยก่อนประดิษฐ์คิดค้นจักรยานขึ้นเรียกว่าสิ่งประดิษฐ์ ต่อมาในปัจจุบันนี้จักรยานถูกปรับแต่งให้มีรูปลักษณ์ และคุณภาพเหมาะสมกับความต้องการการใช้งาน เช่น มีน้ำหนักเบาลงทำให้สะดวกสบายต่อผู้ใช้ รูปทรงและรูปร่างสวยงามเหมาะแก่การขับขี่ มีหน้าจอมอนิเตอร์สามารถคำนวณระยะทางได้ ขายได้ในราคาสูงมีความนิยม จักรยานในยุคใหม่นี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น นวัตกรรมจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเดิมให้มากขึ้นเป็นอย่างมาก

กลไกผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรม

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ที่ผู้บรรยายทำงานนั้นเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีผลอย่างมากต่อการสร้างและพัฒนานวัตกรรม โดยมีบทบาทคือการส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงการนวัตกรรม โดยระยะหลังมีการนำงานวิจัย ไปพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ สนช.จึงเข้ามาพัฒนาความรู้ภายในมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย องค์กรต่างๆ หรือกระทั่งต่อนักประดิษฐ์อิสระ เพื่อที่จะแปลงความรู้เข้าสู่ธุรกิจ โดยใช้กระบวนการพัฒนาโครงการและให้ทุนสนับสนุนและแพร่กระจายความรู้เพื่อส่งเสริมการส่งออกสู่การตลาดต่อไป

กลไกการสนับสนุนของ สนช.จะแยกตามลักษณะของโครงการ โดยแยกเป็นหลายโครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนด้านวิชาการ โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน โครงการนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย และโครงการทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม โดยเกณฑ์การสนับสนุนวงเงิน สำนักงานจะให้การสนับสนุนในลักษณะเบิกจ่ายย้อนหลัง โดยให้เป็นค่าตอบแทนนักวิชาการ ค่าวิเคราะห์และรับรองมาตรฐาน ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าเครื่องจักร อุปกรณ์ และครุภัณฑ์

ในปัจจุบันนี้มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สนช.มากมาย เช่น โครงการระบบตรวจสอบมะม่วงแบบไม่ทำลาย ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยผักตบชวา เครื่องบั้งและยืดกุ้งเทมปุระอัตโนมัติ และโครงการอื่นๆอีกจำนวนมาก นอกจากนี้แล้ว สนช.ยังได้รับรางวัลต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ,รางวัลชนะเลิศด้านเศรษฐกิจในปี 2555  รางวัลต่างๆล้วนทำให้เห็นว่าสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้ประชาชนได้มากมาย

แนวทางพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม

ความสำเร็จของธุรกิจนวัตกรรม ประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ 4 ด้าน ดังต่อไปนี้

(แหล่งข้อมูลจากเว็บไซต์ www.nia.or.th)

การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น ควรมีการกำหนดรูปแบบของธุรกิจ เช่น การรู้เป้าหมายของกลุ่มลูกค้า, คุณค่าที่มอบให้ลูกค้า และจะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่กลยุทธ์ทางธุรกิจ เช่น การเอาชนะคู่แข่ง, สร้างความน่าสนใจในธุรกิจ และการทำให้เป็นที่จดจำ

ในปัจจุบันนี้ หลายคนยังมองว่าธุรกิจนวัตกรรมเป็นเรื่องไกลตัว และสามารถทำได้ยาก ทั้งที่แท้จริงแล้วธุรกิจนวัตกรรมสามารถทำได้ไม่ยากเลย เพียงแค่มีความคิดสร้างสรรค์, ความกล้าที่จะริเริ่มสิ่งใหม่, การใช้กระบวนความคิดและการทำงานอย่างมีขั้นตอนแบบแผน เพียงเท่านั้นก็จะสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจนวัตกรรมได้ไม่ยาก

ลูกค้าจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องตีโจทย์ให้แตก แล้วสร้างนวัตกรรมที่ลูกค้าต้องการ ใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ด้วยการบริหารงานแบบมีเป้าหมาย รู้จุดแข็งจุดอ่อน รู้จักสร้างเครือข่ายและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การไม่หยุดนิ่งคือ การก้าวไปข้างหน้าเพื่อนำไปสู่ “ชัยชนะ” อย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

[Online]. Available at : http://www.franchisedd.com/10-อันดับ-กลุ่มธุรกิจ-ทำเงิน/ [accessed 5 August 2016].

 

ใส่ความเห็น