นวัตกรรม…ต้องทำอย่างนี้ โครงการ I Talk for TISTR ครั้งที่ 4

เรียบเรียงโดย นพวรรณ หาแก้ว

ในโครงการ I Talk for TISTR ครั้งที่ 4 โดย ดร.ประทุม วงษ์พานิช

วันที่ 22 เมษายน 2559 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยี

******************************

หากรู้สิ่งใด ต้องรู้จริงชัดแจ้ง ถึงจะเรียกว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ดังเช่น ดร.ประทุม วงษ์พานิช จากนักวิชาการที่เคยร่วมปฏิบัติงานในโครงการพัฒนาฝายยาง วว. ผ่านไป 20 กว่าปีที่ท่านได้ลาออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเติบโตในสายงานวิชาชีพ วันนี้กลับมาอีกครั้งในฐานะที่ปรึกษา วว. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านยาง เพื่อมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับนักวิจัย วว. ในหัวข้อ นวัตกรรม…ต้องทำอย่างนี้

ดร.ประทุม แนะนำตัวโดยเล่าประวัติคร่าวๆ ให้ฟังว่า สำเร็จการศึกษาด้านยาง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี จากนั้นเริ่มปฏิบัติที่โรงงานรองเท้าบาจา ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำในสมัยนั้น ทำวิจัย ออกแบบผลิตตัวอย่างนำเสนอลูกค้าให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งท่านได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาโดยต่อเนื่อง 10 ปีเต็ม จากนั้นถือโอกาสศึกษาต่อระดับปริญญาโท ทางด้านเคมี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุดนี้เองได้มีโอกาสมาร่วมปฏิบัติงานพัฒนาฝายยางของ วว. ซึ่งได้ใช้ความรู้พื้นฐานทางด้านเคมีมาประยุกต์ใช้ในงานได้อย่างมาก โดยปฏิบัติงานภายใต้โครงการรับผิดชอบของ ดร.เกศรา นุตาลัย และคุณกรรณิการ์ สถาปิตานนท์ ในช่วงเวลานั้น

ฝายยาง วว. นับเป็นนวัตกรรมที่มองเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของการใช้ประโยชน์ตรงตาม วัตถุประสงค์ เพราะถึงแม้ปัจจุบันนี้ฝายยางที่นำไปติดตั้งที่จังหวัดตากก็ยังคงสภาพการใช้งานใช้ประโยชน์ได้อยู่ ท่านได้คลุกคลีทำงานเกี่ยวกับเรื่องยางที่มีพื้นฐานมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นยางรองบ่อน้ำ ยางรัดของ น้ำยางสำหรับเคลือบดอกไม้ยาง หรือแม้แต่ทำสายพานสำหรับโรงงานอาหารก็ตาม

ท่านให้แง่คิดง่ายๆ ว่า จะต้องเรียนรู้ว่าการทำโครงการที่เป็นนวัตกรรม มีอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง และต้องวางแผนและระดมความคิดร่วมกัน สมัยที่ท่านไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาโพลิเมอร์เอ็นจิเนียริ่ง (Polymer Engineering) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโอกาสได้ร่วมงานผลิตถุงมือผ่าตัดที่ผลิตและขายในสหรัฐอเมริกา โดยดำรงตำแหน่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับคนไทยอย่างมากคือ ตำแหน่ง Vice President R&D เนื่องจากได้นำเสนอให้บริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจและเสนอแนวทางว่าควรจะทำอย่างไรให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ สิ่งสำคัญหลักการของนวัตกรรม คือ การทำงานที่ท้าทาย ไม่ปิดกั้นความคิดและความสามารถระหว่างกัน อันจะทำให้เกิดผลดีต่อการสร้างนวัตกรรม รวมทั้งมีทีมงานที่เข้มแข็งเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นผลงานใหม่ๆ ออกมาได้อย่างเชื่อมั่น

หลังจากกลับเมืองไทยได้เริ่มต้นธุรกิจสานต่อความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสม โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้าน R&D ให้กับภาคเอกชน มีแนวทางการทำงานที่นำเสนอว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้างและดำเนินการอย่างไร ท่านให้แนวคิดเพิ่มเติมว่า การทำ R&D ไม่มีผลต่อองค์กรเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับการทำ Innovation ที่จะสามารถทำให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ในการบรรยายครั้งนี้ได้ทบทวนและยกตัวอย่างความแตกต่างระหว่างคำว่า Invention และ Innovation ให้เห็นภาพชัดเจน สำหรับ Innovation ในความหมายคือ การนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ซึ่งจะต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1) มีเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ 2) มีความต้องการของลูกค้า และ 3) มีตลาดที่แท้จริง คือสิ่งที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ สำหรับประเภทของนวัตกรรมที่เกิดขึ้น มี 2 รูปแบบ คือ นวัตกรรมแบบวิวัฒนาการที่มีการพัฒนาและผลิตสิ่งที่เป็นประโยชน์จากการวิจัยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และอีกประเภทคือ นวัตกรรมแบบปฏิวัติเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาที่เกิดขึ้นแบบฉับไว เกิด Impact สูงต่อตลาด การคิดค้นหรือค้นพบขึ้นมาแล้วตอบโจทย์ของตลาด ซึ่งในปัจจุบันจะเป็นรูปแบบนี้มากกว่าเพราะการแข่งขันมีมากขึ้น องค์กร/ธุรกิจต้องคิดโจทย์ให้ได้ว่าจะต้องผลิตอะไรก็ได้ที่ตลาดมีความต้องการ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ กระบวนการหรือบริการ ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ เมื่อคิดได้ คิดเร็ว ต้องรีบประกาศออกไปหมายถึงการจดสิทธิบัตร (Patent) มิเช่นนั้นจะสูญเสียโอกาสในระยะยาว นักวิจัยนอกจากจะต้องเก่งมีความเชี่ยวชาญแล้ว  จะต้องมีฝ่ายสนับสนุนที่ผลักดันในมิติต่างๆ  ร่วมด้วย


ท้ายสุดการบรรยายแลกเปลี่ยนด้วยประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านยาง ได้กล่าวถึง Innovation Process ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องสัมพันธ์กันทั้งในระดับต้นน้ำ ระดับกลางน้ำ และระดับปลายน้ำ โดยมีนโยบายที่สอดรับทั้งในระดับประเทศ ระดับองค์กรและ และระดับกลุ่ม สำหรับ วว. มีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาถือเป็นจุดแข็งที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าตาม Technology Roadmap การจัดตั้งศูนย์ความเชี่ยวชาญเป็นส่วนที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมจากการเรียนรู้ให้เกิดความชัดเจนในเทคโนโลยีนั้นๆ และเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ การเริ่มต้นปีแห่งนวัตกรรมของ วว. ในปีนี้ ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจากผู้บริหาร  จึงเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จที่มุ่งมั่นไปข้างหน้าร่วมกันได้อย่างแน่นอน

 

ใส่ความเห็น