การป้องกันการโจรกรรมข้อมูลตัวตนเบื้องต้น

เมื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ไม่จำกัดแค่เพียงคอมพิวเตอร์เท่านั้น ก็เข้าสู้การเชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่าย ข้อมูลที่สำคัญส่วนบุคคลจึงอาจรั่วไหลหรือถูกโจรกรรมผ่านระบบเครือข่ายได้ เรามาดูวิธีป้องกันเบื้องต้นที่ทุกคนสามารถนำไปลองปฏิบัติได้ อาจจะไม่ 100% ก็ตาม แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้เกิดความเสียหายของข้อมูลได้โดยง่าย
1. ตั้งรหัสให้ปลอดภัย
เลือกตัวอักษรและตัวเลขที่ผู้อื่นไม่สามารถเดาได้ แม้ว่าเขาจะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณได้ก็ตาม หรือไม่เช่นนั้นให้เลือกคำและตัวเลขที่คุณคุ้นเคย แต่จัดให้อยู่ในรูปแบบที่ยากจะเดาได้ ตัวอย่างเช่น Vigènere Cipher นอกเหนือจากนี้ยังมีโปรแกรมออนไลน์ที่ช่วยสร้างรหัสผ่านให้คุณ ซึ่งรหัสนั้นจะไม่สามารถคาดเดาได้ คุณยังสามารถ:
  • เลี่ยงการใช้รหัสผ่านเดียวกันสำหรับทุกบัญชี
  • เลี่ยงการใช้รหัสที่เดาได้ง่าย เช่น วันเกิด ตัวเลขที่เดาได้ง่าย เบอร์โทรศัพท์ เลขสี่ตัวท้ายของบัตรประชาชน และอื่นๆ
  • รหัสผ่านที่ดีนั้นจะประกอบไปด้วยตัวอักษร พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก ตัวเลข และสัญลักษณ์ต่างๆ โดยมีความยาว 8 ตัวขึ้นไป
  • ไม่เก็บรหัสหรือข้อมูลที่มีความเสี่ยงไว้ในคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องสามารถโดนแฮ็คได้ หากคุณต้องการเก็บข้อมูลไว้แบบดิจิตอล ให้เก็บในซีดี หรือ ฮาร์ดไดรฟ์ พกพา ซึ่งคุณจะนำมาต่อกับคอมพิวเตอร์สำหรับการสำรองข้อมูลออฟไลน์เท่านั้น (ปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเมื่อทำการสำรองข้อมูล)
2. ป้องกันคอมพิวเตอร์ของคุณ
โจรที่โจรกรรมข้อมูลตัวตนทุกวันนี้ใช้ซอฟแวร์ที่มีความซับซ้อนเช่น Spyware หรือ Keyloggers เพื่อขโมยข้อมูลต่างๆ เช่น รหัสผ่าน หรือ ข้อมูลการล็อกอิน โดยที่คุณอาจจะไม่ทราบเลย แค่เพราะว่าคุณไม่เห็นอะไรผิดปกติ ไม่ได้หมายความว่าคอมพิวเตอร์ของคุณปลอดภัย Spyware หรือ Keyloggers ต่างจากไวรัสหรือ Adware ทั่วไปตรงที่มันถูกออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูล ดังนั้นมันจะรวมรวมข้อมูลเช่นรหัสผ่านไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การอัพเดต firewall โปรแกรมแอนตี้ไวรัส และ โปรแกรมแอนตี้สปายแวร์อย่างจริงจังและสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันคอมพิวเตอร์ของคุณได้
  • หากคุณไม่แน่ใจว่าคุณควรทำอะไรกับคอมพิวเตอร์ของคุณ โปรดติดต่อร้านคอมพิวเตอร์ใกล้บ้านสำหรับคำแนะนำ
3. ระวังการหลอกลวงต่างๆ
การหลอกลวงนี้รวมไปถึงอีเมลที่ดูจะไม่อันตราย ซึ่งส่งมาขอข้อมูลบางอย่างเช่น รหัสผ่าน เลขที่บัญชี หรือ ข้อมูลเครดิตของคุณ คุณควรจะระมัดระวังอีเมลที่มีการสอบถามข้อมูลเหล่านี้ โดยติดต่อกับผู้ให้บริการของคุณทันทีเพื่อตรวจสอบ
  • หากคุณได้รับอีเมลที่อ้างว่ามาจาก coins.co.th หรือ ธนาคารของคุณให้คุณทำการตรวจสอบหรืออัพเดตข้อมูลเช่น รหัสผ่าน ไม่ว่าด้วยเหตผลใดก็ตาม อย่าคลิกลิ้งค์ในอีเมลนั้น ไม่ว่าอีเมลนั้นจะมีหัวข้อ หรือ หน้าตาที่เหมือนอีเมลจากทาง coins.co.th หรือ ทางธนาคารมากแค่ไหนก็ตาม หากคุณคิดว่าอีเมลดังกล่าวเป็นของจริง ให้ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ของบริษัทหรือธนาคารโดยตรงเพื่อทำการตรวจสอบ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้ระมัดระวังอีเมลนั้น การหลอกลวงนั้นมีหลายรูปแบบ คุณสามารถโทรหาธนาคารเพื่อตรวจสอบโดยติดต่อทางเบอร์หลักของธนาคารได้เช่นกัน โดยไม่ใช่เบอร์ที่แจ้งในอีเมล
  • การหลอกลวงอื่นๆ รวมไปถึงการหลอกว่าถูกรางวัล การขอเงินเพื่อช่วยคนที่เสียเงิน บัตร หรือบ้านไป หรือการช่วยเจ้าชายจากไนจีเรีย เป็นต้น
  • ตรวจสอบเว็บไซต์ของรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่ออัพเดตเรื่องการหลอกหลวงต่างๆ บ่อยครั้งที่องค์กรดังกล่าวจะมีอีเมลมาเพื่อแจ้งให้ระมัดระวัง องค์กรที่ไม่หวังผลกำไรบางแห่งหรือรายการทีวีก็จะมีข้อมูลดังกล่าวให้ศึกษาเช่นกัน
4. ระมัดระวังในการให้ข้อมูลส่วนบุคคล
เมื่อคุณเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณลบข้อมูลทุกอย่างออกหมดแล้ว วิธีการที่ดีที่สุดคือใช้การตั้งค่าจากโรงงาน ซึ่งจะมีวิธีการบอกในเอกสารคู่มือการใช้งานที่มากับคอมพิวเตอร์ของคุณหรือออนไลน์ หากคุณไม่แน่ใจในวิธีการ เอาคอมพิวเตอร์ของคุณไปยังร้านค้าที่มีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวชาญสำหรับคำแนะนำ
  • ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสามารถกู้คืนข้อมูลที่ถูกลบจากฮาร์ดไดรฟ์ได้ โปรแกรมล้างข้อมูลสามารถหาโหลดได้ออนไลน์ หรือ สอบถามร้านคอมพิวเตอร์/ผู้เชี่ยวชาญที่ไว้ใจได้สำหรับคำแนะนำ
5. ตรวจสอบอย่างรอบคอบเมื่อทำธุรกรรมออนไลน์
ตรวจสอบสัญลักษณ์ความปลอดภัยทุกครั้งเมื่อทำธุรกรรมออนไลน์ หากสัญลักษณ์ตัวล็อกในช่อง URL หายไป อย่ากรอกข้อมูลที่มีความเสี่ยงลงไป คุณยังสามารถตรวจสอบว่าเว็บไซต์นั้นเชื่อถือได้หรือไม่ และไม่คลิกเข้าเว็บไซต์จากอีเมลเพื่อดำเนินการใดๆ
6. มองหา https
ตัว “S” หลังจาก http เป็นสิ่งที่ดีในการบอกว่าเว็บไซต์นั้นปลอดภัยในการกรอกข้อมูล ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเห็น https ในทุกหน้าที่คุณเข้าเยี่ยมชม ไม่ใช่เฉพาะหน้าหลักเท่านั้น โดยเฉพาะหน้าที่คุณต้องกรอกข้อมูล
 

7. ไม่ตอบอีเมลที่น่าสงสัย
แม้ว่าคุณจะตอบกลับเพื่อความสนุก การตอบอีเมลนั้นเป็นการยืนยันกับผู้ไม่หวังดีว่าคุณมีตัวตน และจะเป็นการดีกว่ามากถ้าคุณทำให้ผู้ไม่หวังดีคิดว่าความพยายามของเขาในการติดต่อคุณนั้นไม่เป็นผล
  • หลีกเลี่ยงการเปิดอีเมลที่น่าสงสัยเช่น จากบุคคลหรือองค์กรที่คุณไม่รู้จัก ไวรัสอาจจะถูกซ่อนในอีเมล ระมัดระวังมากเป็นพิเศษหากอีเมลนั้นอยู่ในแฟ้มสแปม ที่สำคัญตรวจสอบว่าโปรแกรมสแกนไวรัสของคุณนั้นอัพเดตและเปิดใช้งานเสมอ
8. อย่าแชร์ข้อมูลส่วนตัวออนไลน์
แม้ว่าคุณจะใช้ Facebook, Instagram, หรือ Twitter อย่าคิดว่าผู้อื่นไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณได้ ถึงแม้จะเป็นกล่องข้อความส่วนตัวก็ตาม หากแฮ็คเกอร์เข้าถึงได้สำเร็จ เขาก็อาจจะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณได้ทั้งหมด ดังนั้นอย่าใช้เพียงแค่สัญชาตญาณ แต่ให้ระมัดระวังมากขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้อื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณได้
*อย่าอัพโหลดบัตรต่างๆ เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือ พาสปอร์ตออนไลน์*
9. ตรวจสอบกระเป๋าสตางค์บิทคอยน์ที่ coins.co.th ของคุณ และรายการเดินบัญชีธนาคารของคุณ
การหลอกลวงนั้นจะมีวิธีการใหม่ๆ เสมอ ดังนั้นคุณควรระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ทำการตรวจสอบธุรกรรมอย่างละเอียดรวมถึงรายการสรุปจากธนาคารเพื่อตรวจสอบธุรกรรมที่น่าสงสัยและการหักเงินที่ไม่ได้รับอนุญาติ
หากมีสิ่งผิดปกติ ให้ติดต่อเราที่ coins.co.th support หรือ ธนาคารของคุณทันที
10. ระมัดระวังการใช้ Wi-Fi สาธารณะ
ระมัดระวังเมื่อใข้งาน Wi-Fi สาธารณะเช่นจากคอมพิวเตอร์ภายนอก หรือ Wi-Fi ของห้องสมุด สนามบิน หรือ ร้านกาแฟ หากคุณทำธุรกรรมผ่าน Wi-Fi สาธารณะ ให้ทำผ่านเว็บไซต์ที่มีการเข้ารหัสเท่านั้น ล็อกเอาท์หลังจากทำรายการเสร็จทุกรั้งและอย่าใช้รหัสผ่านเดียวกันในแต่ละเว็บไซต์
11. ใช้การเข้ารหัสผ่านสองชั้น (two-factor authentication)
เราแนะนำให้คุณใช้การเข้ารหัสผ่านสองชั้นเพื่อทำให้บัญชีของคุณปลอดภัยยิ่งขึ้น คุณสามารถติดตั้งได้หลายวิธี แต่วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ แอพพลิเคชัน Google Authenticator และ Authy วิธีการนี้ทำให้คุณต้องใส่รหัสชั้นที่สองเช่น การใส่รหัสจาก SMS ที่ส่งไป เป็นต้น ทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าบัญชีของคุณได้ยากขึ้น

ที่มา : http://support.coins.co.th/

ใส่ความเห็น